ตอนที่ 2 : ศิธาพัฒน์
‘จับมือกันเดินไปพร้อมฟันฝ่า ด้วยหัวใจและศรัทธาเพื่อจุดหมาย
เปิดหนทางการสื่อสารสื่อโลกกว้างไกล ให้มั่นคงและก้าวไกลในสากล
นี่คือความภูมิใจของพวกเรา สิ่งที่เรานั้นก้าวมาสู่จุดหมาย
สิ่งที่เราพัฒนาเพื่อประเทศไทย สู่หลักชัยไปรษณีย์เพื่อปวงชน
ทุกทิศทั่วไทยแห่งใดโยงใยถึงกัน สุดแผ่นน้ำข้ามขอบฟ้าก็ไม่สำคัญ
จะอยู่แห่งไหนไปรษณีย์ช่วยสื่อถึงกัน เราพร้อมจะทำเพื่อคุณและเมืองไทย’เสียงเพลงมาร์ชที่ดังแว่ว ๆ มาจากเครื่องขยายเสียงเป็นเพลงที่นักเรียนโรงเรียนการไปรษณีย์ต่างก็คุ้นเคยกันดีตลอดหนึ่งปีของการเรียนในรั้วสีเลือดหมูแห่งนี้ หนุ่มสาวหลายคนกำลังยืนถ่ายรูปกันที่ด้านหนึ่งของอาคารสูงสามชั้นที่ถูกทาทับด้วยสีแดง มีตัวอักษรสีขาวเขียนว่า ‘โรงเรียนการไปรษณีย์’ รอยยิ้มที่เปื้อนอยู่บนใบหน้าของแต่ละคนเป็นรอยยิ้มแห่งความสำเร็จอีกก้าวก่อนที่หนุ่มสาวเหล่านี้จะแยกย้ายกันไปบรรจุเป็นพนักงานไปรษณีย์ตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ บ้างอาจสมหวังบ้างอาจผิดหวังคละเคล้ากันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือความภาคภูมิใจในอาชีพของตัวเอง
“พี่ศิธา มาถ่ายรูปกัน” เสียงสาวน้อยนางหนึ่งเอ่ยขึ้นเรียกสติของใครคนหนึ่งที่กำลังปล่อยใจคิดอะไรเพลิน ๆ ขณะแหงนหน้าขึ้นมองต้นชมพูพันทิพย์ที่มักจะออกดอกสีชมพูสะพรั่งในช่วงหน้าหนาวซึ่งเป็นช่วงการสอบของเหล่านักเรียนไปรษณีย์ หนึ่งปีสำหรับการเรียนที่นี่อาจไม่นานนักแต่มันก็ทำให้พวกเขาผูกพันกันได้ไม่ยาก
“เฮ้ย ๆ หลบ ๆ ให้พี่ศิธายืนข้างหน้าเลย ในฐานะพี่ใหญ่ของรุ่น” ชายหนุ่มที่ในมือถือช่อดอกไม้เอ่ยขึ้น
‘พี่ใหญ่ของรุ่น’ ชายหนุ่มร่างสูงผู้ได้รับเกียรตินี้ยิ้มก่อนจะเดินเข้าไปยืนตรงที่ซึ่งบรรดาน้อง ๆ เว้นไว้ให้ จะมีใครคิดว่าอยู่ ๆ นักการตลาดมือดีก็ตัดสินใจสมัครสอบเข้าเรียนเป็นนักเรียนไปรษณีย์ทั้งที่หน้าที่การงานกำลังไปได้ดีแท้ ๆ ดังนั้นเพื่อน ๆ ร่วมรุ่นนักเรียนไปรษณีย์ของเขาจึงเป็นบรรดาเด็ก ๆ ที่เพิ่งเรียนจบในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่ก็นิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อมาตามหาความฝันของตัวเองกับระยะเวลา 1 ปี ในโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งหลาย ๆ คนอาจมองว่ามันเป็นการทำอะไรที่เสียเวลา แต่สำหรับ ‘ศิธาพัฒน์ กษิศภูมิ’ มันเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถทำให้เขาสามารถย้อนคืนสู่วันเวลาเก่า ๆ ได้
ไม่นานเสียงชัตเตอร์ก็ดังรัวขึ้นพร้อมกับเสียงหัวเราะของหนุ่มสาว วันสุดท้ายของการใช้ชีวิตร่วมกันในโรงเรียนแห่งนี้กำลังจะหมดลง และอีกไม่นานที่แห่งนี้ก็จะมีนักเรียนไปรษณีย์รุ่นต่อไปเข้ามายืนแทนที่
“โชคดีพี่ อย่าลืมส่งข่าวถึงกันบ้างล่ะ ไปบรรจุเสียไกลเชียว” ชายคนเดิมกล่าวพร้อมกับยื่นช่อดอกไม้ให้
“ขอบใจนะ อย่าลืมส่งรูปให้บ้างล่ะ” คนตัวสูงรับดอกไม้มาพร้อมกับตบบ่าคนตรงหน้าเบา ๆ ก่อนจะเดินจากมา ชายหนุ่มเดินตรงไปยังม้าหินอ่อนใต้ร่มไม้ใหญ่ซึ่งมีใครอีกคนกำลังรอเขาอยู่ ตาคมกริบทอดมองไปยังหญิงชราในชุดผ้าไหมสีตองอ่อนที่กำลังนั่งคุยอยู่กับบรรดาพ่อ ๆ แม่ ๆ คนอื่น ๆ ที่มาแสดงความยินดีในวันจบการศึกษาของลูก ๆ ผมสีดอกเลาถูกเซ็ตตีกระบังดูเนี้ยบกว่าตอนที่เธอเดินดูต้นไม้ในสวนของเธอเมื่อตอนอยู่ที่บ้านหลายเท่า ชายหนุ่มกดยิ้มที่มุมปากก่อนจะเดินเข้าไป
“กลับกันเถอะครับย่า”
“อ้าว ทำไมรีบกลับ ย่าคิดว่าแกจะอยู่ถ่ายรูปกับเพื่อน ๆ นานกว่านี้เสียอีก”
หลานชายส่ายหน้ายิ้ม ๆ
“นานแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องจากกันอยู่ดีแหละครับ” หญิงชราวัยแปดสิบปีกระชับวงแขนที่โอบกอดดอกไม้ช่อโตก่อนจะเหม่อมองสายฝนที่เริ่มโปรยปรายลงมา แม้จะไม่ใช่ช่วงเวลาเร่งด่วนแต่ถนนเบื้องหน้ากลับเต็มไปด้วยรถราที่จอดติดเป็นอัมพาต ครู่หนึ่งเธอก็ละสายตาจากภาพตรงหน้าก้มลองมองมืออันเหี่ยวย่นของตัวเองที่กำลังลูบคลำไปบนตราสัญญาลักษณ์รูปเครื่องบินกระดาษสีน้ำเงิน แดง ขาว ทำจากเรซินนูนซึ่งประดับอยู่บนปกผ้าไหมสีแดงสดมีตัวอักษรพิมพ์ทองเขียนว่า ‘โรงเรียนการไปรษณีย์’ ที่วางอยู่บนตักก่อนจะเปิดมันออกอ่านข้อความบนกระดาษสีขาวที่อยู่ด้านใน
ดวงตาสีเทาหม่นไล่ไปตามตัวอักษรในประกาศนียบัตรซึ่งมอบให้แก่ผู้สำเร็จหลักสูตรนักเรียนการไปรษณีย์ปีล่าสุดจนกระทั่งมาหยุดที่ชื่อเจ้าของ
‘ศิธาพัฒน์ กษิศภูมิ’
หญิงชราเงยหน้าขึ้นมองชายหนุ่มวัยย่างเบญจเพสที่ยิ้มอย่างอารมณ์ดีอยู่ในตำแหน่งที่นั่งคนขับ เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวสะอาดตาถูกสวมมาตั้งแต่เมื่อเช้ายังคงอยู่ในสภาพเรียบร้อย ที่คอผูกเนคไทสีน้ำเงินเข้มตัดกับแหนบเหน็บเนคไทสีทอง ผมรองทรงถูกหวีเสยเปิดหน้าผากเผยให้เห็นคิ้วเข้มหนารับกับดวงตาคมกริบ ในความคิดของคนที่เฝ้าเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็ก ๆ นั้นเขาช่างเป็นหลานชายในบรรดาหลาน ๆ ทั้งสามคนที่นอกจากจะมีใบหน้าละม้ายคล้ายผู้เป็นพ่อแล้วนิสัยก็อย่างกับถอดแบบกันมา แม้ภายนอกจะดูใจเย็น สุขุม แต่หากรู้จักกันจริง ๆ หรือเป็นคนใกล้ชิด จะรู้ว่าเมื่อเขาคิดจะทำการอะไรแล้วไม่มีทางที่จะล้มเลิกง่าย ๆ หลานชายคนโปรดคนนี้จึงได้ชื่อว่า ‘ดื้อเงียบ’ ที่สุดในบรรดาหลาน ๆ ทั้งหมด
“แกนี่มันดื้อเหมือนพ่อไม่มีผิด” แม้ปากจะพูดออกไปเช่นนั้นแต่ในแววตาของคนเป็นย่าก็แสดงออกถึงความภูมิใจในความสำเร็จนี้ “แทนที่จะเรียนต่อปริญญาโท ก็รั้นมาเรียนโรงเรียนการไปรษณีย์”
แม้จะโดนบ่นแต่รอยยิ้มก็ยังไม่จางหายไปจากใบหน้าหล่อเหลา แถมยังย้อนถามเสียด้วยซ้ำ “ย่านี่บ่นตั้งแต่ผมเข้าเรียนยันเรียนจบเลยนะ ปีหนึ่งแล้วนะย่า ย่าไม่เหนื่อยบ้างเหรอครับ”
“เหนื่อยสิ ย่าเหนื่อยจะบ่นแกแล้ว แต่แกนั่นแหละที่ทำให้ย่าต้องบ่น” หญิงชราขมวดคิ้วพร้อมกับปิดปกประกาศนียบัตรลง “อยู่ดีไม่ว่าดี ทำงานบริษัทดี ๆ ไม่ชอบ ดันอยากเป็นพนักงานไปรษณีย์” น้ำเสียงนั้นแสดงถึงความอ่อนอกอ่อนใจไม่น้อย
“แล้วเป็นพนักงานไปรษณีย์มันไม่ดีตรงไหนล่ะครับ ลูกชายย่าก็เป็นนะ”
“มันก็ดีอยู่หรอก ถ้าแกไม่เดินเข้ามาบอกย่าว่าจะขอไปบรรจุที่ลำปาง”
ศิธาพัฒน์ยังคงยิ้มอย่างอารมณ์ดี “สามปีเองย่า ผมขอเวลาสามปีนะ”
ผู้เป็นย่าได้แต่เพียงฟังเฉย ๆ เธอเข้าใจกฎระเบียบนี้ดี เพราะนอกจากตอนนี้เธอจะเป็นย่าของว่าที่พนักงานไปรษณีย์ระดับ 2 แล้ว เธอยังเป็นแม่ของอดีตหัวหน้าสำนักงานไปรษณีย์จังหวัดด้วยเช่นกัน
“ให้มันจริงเถอะ ย่าละกลัวจริง ๆ กลัวว่าประวัติศาสตร์มันจะซ้ำรอย”
“โธ่..ย่าครับ นี่มันก็ผ่านมาตั้งนานแล้วนะครับ จนพี่ปุนจะแต่งงานแล้วย่ายังไม่ลืมอีกเหรอ”
“ใครจะลืมได้ พ่อแกน่ะทำย่าไว้แสบ อุตส่าห์ทาบทามลูกสาวเจ้าสัวเอาไว้ให้ สุดท้ายก็ไปคว้าลูกสาวชาวสวนมาเป็นเมีย”
“แต่สุดท้าย แม่ก็ชนะใจย่าได้” ชายหนุ่มยิ้มหวาน
“ย่ะ” น้ำเสียงงอน ๆ ของผู้เป็นย่าทำให้หลานชายอดนึกขำไม่ได้ เพราะแม่ของเขาเป็นคนขยันทำมาหากิน การเอาชนะใจ ‘คุณนายยุพา’ เศรษฐีนีเจ้าของสวนผลไม้เมืองนนท์จึงไม่ใช่เรื่องยาก
“แล้วนี่แกบอกพ่อกับแม่แกแล้วหรือยัง”
“ผมโทรไปบอกแล้วละครับ พ่อกับแม่บอกว่าจะบินกลับจากสงขลามาให้ทันส่งผมไปลำปาง”
“แล้วแกได้คุยกับเจ้าปุ้นมันบ้างหรือเปล่าว่าจะกลับบ้านเมื่อไร”
“อืม ก็เห็นพ่อบอกว่าเทอมหน้าปุ้นต้องออกไปฝึกงานในโรงพยาบาล ก็คงอีกนานเลยละครับกว่าจะได้กลับบ้าน” ศิธาพัฒน์ลอบมองเสี้ยวหน้าของคนที่นั่งข้าง ๆ กันก่อนจะยิ้ม “ทำไมครับ ย่ากลัวเหงาเหรอ”
หญิงชราไม่ได้ตอบอะไร เธอยังคงเหม่อมองออกไปที่นอกหน้าต่าง ซึ่งขณะนี้สายฝนเริ่มหนาเม็ดขึ้น จนกระทั่งสัมผัสอุ่น ๆ ที่หลังมือทำให้ต้องละสายตาหันกลับมา
“ย่าไม่ต้องกลัวเหงาหรอกครับ อีกหน่อยพอพี่ปุนแต่งงานมีหลาน ย่าก็จะมีเจ้าตัวเล็ก ๆ ไว้ให้ปวดหัวแล้ว”
“ปวดหัวกับพวกแกสามคนย่าก็จะแย่แล้ว” คุณนายยุพากล่าวอย่างอารมณ์ดีพร้อมกับวางมือที่เหลือลงบนมือของหลานชายพลางนึกถึงเด็กหญิงและเด็กชายจอมซนสามคนที่มักจะทำให้ต้องปวดหัวอยู่บ่อย ๆ ถ้าไม่ทะเลาะกันเรื่องแย่งของเล่น ก็ทะเลาะกันเรื่องที่เถียงกันว่าพ่อแม่รักใครมากกว่ากัน แต่ทุกครั้งเหตุการณ์ทุกอย่างก็จะคลี่คลายลงได้ด้วยฝีมือของคุณย่าเสมอ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากหลาน ๆ แห่งบ้าน ‘กษิศภูมิ’ ทั้งสามคน ทั้ง ‘ปุน’ หรือ ‘ศิตางค์’ และ ‘ปุ้น’ หรือ ‘ศิลา’ รวมถึงศิธาพัฒน์จะสนิทกับคุณย่าเอามาก ๆ
สายฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตาจนทำให้การจารจรในช่วงบ่ายเป็นอัมพาตตั้งแต่เมื่อหนึ่งชั่วโมงก่อนค่อย ๆ ซาลงเมื่อรถนั่งแบบครอบครัวเลี้ยวเข้าซอยที่แวดล้อมไปด้วยสวนผลไม้ในชุมชนชาวสวนเก่าแก่ริมน้ำเขตจังหวัดนนทบุรี ไม่นานนักรถก็แล่นลัดเลาะสวนผลไม้มาจนถึงบ้านสองชั้นหลังใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่กว้างขวาง คุณนายยุพามองหญิงสาวในชุดนางพยาบาลที่รีบวิ่งออกมารับหน้าก่อนจะเปิดประตูลงจากรถ
“ยัยปุน ย่าบอกหลายครั้งแล้วว่าอย่าวิ่ง สะดุดล้มไปจะทำยังไง โตเป็นสาวแล้วยังต้องให้ย่าพูดปากเปียกปากแฉะ”
ศิตางค์เดินเข้ามารับของจากมือของผู้เป็นย่า “ก็ปุนตื่นเต้นนี่คะ อยากเห็นนายไปรษณีย์คนใหม่” พูดจบเธอก็หันไปยิ้มน้อย ๆ ให้น้องชายคนรองเป็นอันรู้กันว่าย่าสามารถบ่นได้ทุกเรื่องแม้กระทั่งเรื่องที่ไม่น่าบ่น
“จะตื่นเต้นอะไรกันหนักหนา”
“แหม ย่าน่ะไม่ตื่นเต้นเลยนะคะ ปุนเห็นไปตัดชุดตั้งแต่สองเดือนที่แล้วแถมออกไปทำผมตั้งแต่เมื่อวาน”
คุณนายยุพาค้อนขวับ “แม่เราเขาซื้อผ้ามาให้ตั้งนานแล้วย่ากลัวมันจะเก่าก็เลยเอาไปตัด ๆ เสีย ส่วนผมย่าก็ไปทำของย่าเป็นปกติ” มือเหี่ยวย่นยกขึ้นจัดทรงผมแก้เก้อก่อนจะเดินเข้าไปในบ้าน
“ค่ะ ปกติก็ปกติ” หลานสาวคนโตยิ้มหวาน มองหญิงชราที่กำลังเดินผ่านหน้าเธอไป รู้ดีว่าการเถียงกับคุณย่าจอมดื้อ เถียงอย่างไรก็ไม่ชนะ ดังนั้นเธอจึงหันไปหาคนตัวสูงที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ
“พี่ยินดีด้วยนะปุ่น”
“ขอบคุณครับพี่ปุน” ศิธาพัฒน์กล่าวก่อนจะดึงช่อดอกไม้มาถือเอาไว้เองในขณะที่พี่สาวของเขากำลังเปิดประกาศนียบัตรออกอ่าน
“พ่อกับแม่ต้องภูมิใจในตัวปุ่นมาก ๆ แน่ ๆ” เธอกล่าวทั้งที่สายตายังคงไล่อ่านข้อความในกระดาษอย่างตั้งใจ
“พ่อกับแม่เขาก็ภูมิใจในตัวพวกเราทุกคนนั่นแหละ” พูดจบแขนแกร่งก็โอบไหล่พี่สาวเอาไว้
“แล้วนี่ต้องไปสามปีเลยเหรอ”
“ครับ”
“เฮ้อ!” หญิงสาวถอนหายใจพร้อมกับปิดประกาศนียบัตรลง “น้องชายฉันแต่ละคน ทำไมถึงอยู่ไกลบ้านกันนักนะ”
“โธ่..พี่ปุน เดี๋ยวเจ้าปุ้นมันเรียนจบมันก็กลับมาแล้ว เผลอ ๆ อาจจะได้มาเป็นเภสัชกรที่โรงพยาบาลเดียวกับพี่ก็ได้นะ”
“หึ คงได้ทะเลาะกันตายสิไม่ว่า” พี่สาวคนโตยิ้มพลางนึกถึงน้องชายตัวแสบประจำบ้าน “แล้วเราล่ะ ทำไมถึงเลือกไปไกลจัง ทั้งที่จริง ๆ ก็เลือกบรรจุในที่ทำการไปรษณีย์ใกล้ ๆ บ้านได้ แต่ก็ยังเลือกไปไกลถึงลำปาง”
“คงอยากไปในที่ที่พ่อกับแม่เคยอยู่ด้วยกันมั้ง” ริมฝีปากหนาขยับยิ้ม “เห็นชอบทบทวนความหลังให้ลูก ๆ อิจฉากันอยู่เรื่อย”
“พี่เองก็จำอะไรเกี่ยวกับที่นั่นไม่ได้เลย จำได้ว่าตอนที่พ่อกับแม่ย้ายกลับมาอยู่กับคุณย่าพี่ยังเด็กมาก นี่ถ้าแม่ไม่ตัดสินใจขายทั้งบ้านทั้งสวนที่นั่นปุ่นก็คงไม่ต้องไปลำบากหาที่อยู่ใหม่ แต่จากที่ฟังแม่เล่ากว่าพ่อจะตัดใจย้ายมาอยู่ที่นี่ก็ใช้เวลานานเหมือนกันนะ”
“นั่นน่ะสิ อยากรู้เหมือนกันว่าทำไมพ่อถึงได้รักที่นั่นนัก” ตาคมทอประกายเมื่อนึกถึงการเดินทางที่กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่นาน...
....
สวัสดีค่ะ พบกันอีกแล้ว
ก่อนอื่นต้องขอบคุณมาก ๆ สำหรับการติดตามนะคะ
รู้สึกเกร็ง ๆ เหมือนกันเวลาคุณคนอ่านบอกว่า เข้ามาอ่านเพราะเห็นชื่อคนเขียน
(แหะ ๆ ไม่อยากให้คาดหวังกับเราเยอะค่ะ รู้ตัวว่ายังเขียนไม่ดี ^^")
ขออนุญาตออกตัวแรง ๆ ก่อนเลยค่ะว่าเราไม่ใช่นักเขียน อาจจะเขียนได้ไม่ดีนัก ต้องขออภัยนะคะ
แต่ยังไงก็ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ อ่านคอมเม้นท์แล้วสนุกดีเวลาคนอ่านเดาเรื่องต่อ
มีคนเดาถูกด้วยละ น่ากลัวจริง ๆ (นี่มาสิงร่างเราหรือเปล่า)
หลังจากตอนนี้ไปคงเว้นช่วงนานหน่อยนะคะ ขอไปเคลียร์การงานส่งก่อน
จะหมดคอร์สเวิร์คแล้วต้องทำตัวสงบเสงี่ยมเจียมตัวหน่อย (ทั้งที่แอบดีใจสุด ๆ)
ขอบคุณ คุณ hembetaro ที่ช่วยดูคำผิดให้นะคะ