(ต่อจากด้านบน)
ตอนที่ 4/2
.....ใจผูกใจ.....
เมื่อสิ้นมื้ออาหาร คุณเต้ก็ชักชวนมานั่งชมจันทร์ที่ชานเรือน ติดฝั่งน้ำ พระจันทร์ดวงโต แลน้ำก็ปริ่มตลิ่ง ด้วยใกล้วันเพ็ญเดือนสิบสองแล้วนั่นเอง
“ ตี๋ พ่ออยากจักไปเที่ยวงานภูเขาทองรึไม่ ”
เต้ถามขึ้นเมื่อตี๋เดินมานั่งที่ชานเรือน ตนเองจึงถือโอกาสเอนศีรษะหนุนตักคนที่นั่งอยู่เสีย มิเพียงแค่นั้น เต้ยังฉวยเอามามือของคนตัวเล็กกว่ามากุมไว้อีกด้วย ยังให้คนเป็นบ่าวสะบัดร้อน สะบัดหนาว(5)อีกครา
“ บ่าวไปได้รึขอรับ ”
“ แล้วเหตุใดจักมิได้เล่า เจ้าคุณพ่ออนุญาต แลให้อัฐกับบ่าวทุกคน หากใครมิได้เป็นเวรยามก็ไปได้ แต่หากเป็นเวรยามก็สลับกันไป งานมิได้จัดแค่วันเดียว ”
“ บ่าวอยากไปขอรับ พี่สุก แลพี่ผลก็ชักชวนอยู่ขอรับ แต่บ่าวยังมิกล้าตอบ ด้วยอยากจักถามคุณเต้ก่อน หากคุณเต้จักเรียกใช้ บ่าวจักได้บอกให้พี่สุก พี่ผลมิต้องรอบ่าว ”
ตี๋ว่า หากเต้เรียกใช้เขาจริง เขาก็คงมิกล้าจัด แลเขาก็มิอาจให้พี่สุก พี่ผลรอเขาได้เช่นกัน ด้วยเกรงใจทั้งคู่เกินไป แต่จักให้เขาไปเองคนเดียวเขาก็ไปมิถูก ด้วยมิเคยไปคนเดียวเลยสักครา
“ พ่ออยากไปกระนั้นรึ งั้นก็เอาสิ พี่จักพาไป แลบอกนายสุก นายผลด้วย ไปเสียด้วยกัน วันรุ่งพี่จักบอกนายมั่นให้เตรียมเรือไว้ แลจักให้นายสุก นายผลเป็นคนพายไป แต่พี่จักพาพ่อไปวันมะรืนแล้วกันนะ ไปวันที่เขาลอยประทีปกันนั่นล่ะ แลจักได้ลอยกระทงเสียทีเดียว ”
เต้ว่ายาวโดยมิปล่อยให้ตี๋ขัด จักเรียกว่า มัดมือชกก็มิผิด เขามิอยากให้ตี๋ขัดเขานั่นล่ะ หากปล่อยให้ไปเอง คงมิพ้นจักต้องเดินไป ระยะทางก็มิใช่จักใกล้ แลไปทางเรือจักสะดวกกว่านัก เพราะสามารถจอดเรือที่หน้าวัดได้นั่นเอง
เขาทั้งคู่นั่งอยู่ที่ชานเรือนจนน้ำค้างลงหนักขึ้น เต้จึงชักชวนตี๋กลับเข้าเรือนนอน ตี๋เองนั้นกำลังจักหยิบเสื่อที่หน้าห้องเช่นทุกเคยด้วยความเคยชิน แต่มือของใครบางคนกลับฉุดรั้งให้ต้องก้าวเท้าตาม
เรื่องนี้ก็เช่นกัน ตั้งแต่เมื่อคราชมจันทร์ครั้งนั้น เต้ก็มิเคยปล่อยให้ตี๋นอนหน้าห้องเช่นเดิมอีก แม้จักเสี่ยงที่มีจักพวกสอดรู้มาเห็น แต่เขาก็มีเหตุผลเอาไว้แล้ว
แต่ถึงกระนั้น แม้ตี๋จักยอมเข้ามานอนในเรือนนอนพร้อมกัน ด้วยเหตุผลที่เขาบอกเจ้าตัวไว้ แต่ตี๋ก็ยังมิยอมที่จักมานอนร่วมเตียงกับเขา แม้เต้จักพยายามอุ้มเจ้าตัวตอนหลับ แต่ตี๋นั้นเป็นคนที่รู้ตัวไว พอจักอุ้มคราใด เจ้าตัวก็รู้สึกตัวเสียทุกที เต้จึงได้แต่รอเวลา
ตี๋เดินเข้ามาจัดเตียงให้คุณเต้อีกครั้ง เพื่อดูว่าเรียบดีแล้วรึไม่เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงมาจัดที่นอนของตนเองบ้าง เสื่อผืนเล็กปูบนพื้นเรือน หมอน แลผ้าห่ม เครื่องนอนของบ่าวไพร่มิได้มีกระไรมากไปมากนี้นัก
เมื่อเห็นว่าคุณเต้ขึ้นเตียงเรียบร้อยแล้ว ตี๋จึงปลดมุ้งลง จัดเก็บปลายทับเข้ากับฟูกนอน กันมิให้ยุง รึแมลงเข้าไป จากนั้นเขาจึงเป่าตะเกียงให้ดับ แล้วล้มตัวนอนบนที่นอนของตน
แสงจันทร์ข้างขึ้นบนท้องฟ้า ส่องผ่านหน้าต่างซึ่งเปิดรับลม ทำให้เห็นคนที่หลับอยู่ที่พื้นได้อย่างค่อนข้างจักชัด เต้ค่อยๆจรดฝีเท้าให้เงียบเท่าที่จักทำได้ เพราะมิต้องการให้คนที่หลับอยู่ตื่น
“ คุณเต้ ”
ตี๋อุทานขึ้นอย่างตระหนก เมื่อรู้สึกถึงใครอีกคนที่เข้ามานอนบนเสื่อผืนเดียวกับตน นี่มิใช่คืนแรกที่คุณเต้ลงมานอนกับตนบนพื้น หากเป็นมาตั้งแต่คราวันชมจันทร์ครั้งนั้น คุณเต้พยายามจักให้ตนขึ้นไปนอนบนเตียงด้วยกัน แต่เขาก็ปฏิเสธ เมื่อคุณมิสามารถให้เขาขึ้นไปนอนบนเตียงกับท่านได้ คุณเต้จึงลงมานอนกับเขาที่พื้นเสียแทน
“ คุณเต้มิควรลงมานอนเยี่ยงนี้นะขอรับ แลรุ่งเช้าคุณเต้จักปวดหลัง ปวดไหล่อีก ”
“ อันใดเล่าที่พ่อว่ามิควร แลหากพ่อเกรงว่าพี่จักปวดหลัง ไหล่ เหตุใดจึงมิยอมนอนบนฟูกกับพี่เล่า หากพ่อยังมิยอมนอนกับพี่ พี่ก็จักลงมานอนกับพ่อเยี่ยงนี้ พ่อจักไม่สงสาร แลเห็นใจพี่บ้างเชียวรึ ที่พี่จักต้องปวดหลัง ปวดไหล่ เข้ากรมอยู่ทุกวัน ”
เต้กล่าวขึ้น เขารู้ว่าตี๋เป็นคนขี้สงสาร แลเห็นใจผู้อื่น ห่วงผู้อื่น เขาจึงใช้เหตุนี้มาให้ตี๋เห็นใจเขา แลยอมขึ้นไปนอนกับเขาเสียที ที่พื้นนี่ทั้งแข็ง ทั้งเย็น แลแมลงเล็กน้อยก็กวนใจ มิรู้ว่าคนตัวเล็กนอนหลับได้เยี่ยงไร
แต่จักถึงอย่างไรตี๋ก็ยังมิยอมจักขึ้นไปนอนกับเต้ ด้วยตี๋คิดว่า อีกไม่กี่เพลา คุณเต้ก็จักทนที่จักต้องนอนบนพื้นมิได้ แลกลับขึ้นไปนอนบนเตียงเช่นเดิม
เมื่อตี๋มิได้ตอบกระไรอีก เต้จึงถือวิสาสะพาดแขนของตนบนเอวคนข้างตัว แลหลับไปพร้อมกันทั้งอย่างนั้น แม้ว่าจักปวดเมื่อยไปบ้าง แต่เมื่อลงมานอนเรื่อยๆเขาก็เริ่มชิน จนอาการปวดเมื่อยนั้นคลายลงมาก หากเทียบกับได้นอนกอดคนที่ตนพึงใจ
******************************
จันทร์ดวงโตลอยเด่นอยู่ขอบฟ้า วันนี้เป็นคืนเพ็ญเดือนสิบสอง พระจันทร์ขึ้นขึ้นเร็ว แลคล้ายจักดวงโตขึ้นอีกด้วย น้ำในลำคลองนั้นก็ขึ้นปริ่มตลิ่ง
ท่าน้ำหน้าเรือนริมน้ำ นายมั่นเตรียมเรือมาดเก๋ง(6) ไว้ที่ท่าน้ำหน้าเรือน ท่านพระยา คุณหญิง อนุภรรยา แลบุตร ธิดา คนอื่นนั้นล่วงหน้าไปก่อนแล้ว เนื่องด้วยคุณเต้นั้นขอว่าจักไปเอง
“ ไอ้สุก ไอ้ผล เอ็งพายเรือให้ดี ส่วนเอ็งไอ้ตี๋ คอยรับใช้คุณเต้ท่านด้วย อย่าได้เที่ยวเพลินจนลืมหน้าที่ตัวเองเสียล่ะ เอ็งทั้งคู่ก็ด้วย ไอ้สุก ไอ้ผล แลนางมา เอ็งก็ช่วยไอ้ตี๋มันก็แล้วกัน ”
นายมั่นสั่งความบ่าวที่ตนดูแล นางมานั้นได้ติดตามมาด้วย คราแรกนางมาเองก็มิกล้าจักนั่งเรือไปพร้อมคุณเต้ แลจักนัดพบนายผลที่หน้าองค์พระเจดีย์ แต่คุณเต้เห็นว่าจักต้องไปที่เดียวกันอยู่แล้ว จึงให้นั่งเรือไปพร้อมกันเสียทีเดียว
“ จ้าพี่มั่น พี่มั่นมิต้องกังวล ”
นายสุกตอบรับคำสั่งความของนายมั่น ซึ่งนายมั่นเองก็พยักหน้ารับ แลเมื่อทุกคนขึ้นเรือ แลคุณเต้เข้าไปนั่งในเก๋งเรือแล้ว นายมั่นจึงผลักหัวเรือออกจากท่า ให้นายสุก นายผลช่วยกันพายต่อเพื่อไปงานภูเขาทอง
******************************
เสียงอึกทึกดังแผ่วมาตามลม แสงไฟจากโคมตะเกียงหลากสีสัน เสียงปะทัด ดอกไม้เพลิงสีสวยก็มิยิ่งหย่อนกัน แลยิ่งได้ยินชัดขึ้นเมื่อเรือเข้าใกล้ท่าเรือหน้าวัด
นายผล นายสุกจอดเรือบริเวณท่าน้ำหน้าวัด เพื่อให้เจ้านายลงก่อน แลตนเองจึงค่อยหาที่ผูกเรือ เพราะโดยรอบท่าน้ำนั้นมิให้ผูกเรือ จักต้องออกไปผูกเรือไกลขึ้นสักหน่อย
“ คุณเต้ขอรับ ประเดี๋ยวกระผม แลไอ้ผลจักไปหาที่ผูกเรือตรงกระโน้นนะขอรับ ”
นายสุกแจ้งแก่คุณเต้ ว่าตนแลนายผลจักต้องเอาเรือไปผูกอีกที่หนึ่ง
“ กระนั้นก็ได้ เอาเยี่ยงนี้แล้วกัน ข้าจักแยกไปตรงนี้ แลมาพบกันอีกทีตอน 2 ยาม(7) ”
เต้แจ้งแก่บ่าวว่าตนจักแยกไป แลนัดแนะให้ทุกคนกลับมาพบกันที่ท่าน้ำนี้ตอน 2 ยาม
“ ขอรับ/เจ้าค่ะ คุณเต้ ”
นายสุก นายผล แลนางมา รับคำ คุณเต้จึงพยักหน้ารับคำนั้น แลส่งสายตาให้บ่าวรับใช้ของตนเดินไปกลับตนเองด้วย เมื่อแต่ละคนแยกกันออกไปแล้ว เต้จึงพาตี๋มาไหว้องค์พระ แลพระบรมสารีริกธาตุ
เพลานี้อยู่นอกเรือน ผู้คนมากมายนัก จักทำกระไรเยี่ยงอยู่ที่เรือนริมน้ำมิได้ มิเช่นนั้น คนตัวเล็กของเขาจักมีภัย
“ ตี๋ พ่อเดินข้างพี่นะ ประเดี๋ยวจักหลง คนเยอะเยี่ยงนี้ แลพ่อยังมิเคยมา จักยิ่งลำบาก ”
เต้ว่า ใจเขาอยากจักคว้ามือเล็กๆนั้นมากุมไว้ แลเดินไปด้วยกัน แต่หากทำเยี่ยงนั้นจักเป็นจุดสนใจของผู้คนเสียเปล่าๆ
“ ขอรับคุณเต้ ”
ตี๋ในวันนี้นุ่งผ้าโจงผืนสวยที่คุณเต้มอบให้เมื่อคราก่อน แลสวมเสื้อคอกลม ติดกระดุม 5 เม็ด เรียบๆ มิได้ฉูดฉาด
ทั้งคู่เดินชมงานไปด้วยกัน แวะชิมขนมตามร้านที่ตั้งขาย ตี๋มองทุกอย่างด้วยความสนใจ แม้บางครั้งจักหยุดเดินบ้าง แต่เต้ก็มิได้รำคาญแต่อย่างใด
เต้มองคนตัวเล็กที่หยุดมองการแสดงด้วยความสนใจไปเสียทุกอย่าง ปากเล็กๆ ดวงตาซื่อๆ ที่ตนชอบมองอยู่เสมอนั้นสนใจทุกอย่างรอบตัว เมื่อเห็นกระไรก็จักหยุดดู แลชี้ชวนให้เขาดูไปด้วย
“ คุณเต้ขอรับ อันนี้เรียกว่ากระไรขอรับ แลเขามิบาดเจ็บดอกรึ”
“ อันนั้นรึ เขาเรียกนอนดาบ(
มันเป็นการแสดงว่าเขาอยู่ยงคงกระพัน ”
แลอีกมากมายหลายคำถามที่คนตัวเล็กที่ตื่นตากับการละเล่นหันมาถามคุณเต้ อย่างเมื่อผ่านการเล่น โตฬ่อแก้ว(9) เจ้าตัวก็หยุดดูแลซักถามเช่นเดิม
การละเล่นในงานภูเขาทองนั้นมีหลายอย่างละลานตา ตี๋นั้นเดินชมไปทุกที จนลืมไปว่าตนเองเป็นใคร แลคนที่เดินตามนั้นเป็นใคร แต่เต้ก็มิได้ว่ากระไรเลย เขาพอใจที่จักเห็นตี๋มีความสุข
แสงสว่างแลสีสันสันจากดอกไม้เพลิงทำให้คนตัวเล็กแหงนมอง แลยิ้มอย่างชอบใจ โรงมวยที่แวะเข้าไปดูก็สนุกยิ่งนัก แต่ตนเองก็มิได้อยู่นาน ด้วยเกรงจักเที่ยวชมได้มิครบที่
ออกจากโรงมวย ตี๋จึงชักชวนคุณเดินต่อไปที่การละเล่นที่อยู่ข้างกัน เขามิรู้จักว่าเรียกว่ากระไร เห็นแต่ว่าคนเล่นนั้นถือหางนกยูงในมือข้างละกำ แลทรงตัวร่ายรำอยู่บนราวลวด คุณเต้บอกว่านั่นคือการ รำแพน(10)
เต้พาตี๋เดินออกจากวงรำแพน ไปชมหุ่นละครโรงเล็ก ดูเชิดหุ่นกระบอก แวะซื้อขนมบุหลันดั้นเมฆ(11) ขนมตะลุ่ม(12) แลขนมเกสรชมพู(13) ที่ขายอยู่ข้างโรงหุ่นละคอน
เมื่อออกจากโรงหุ่นละครเล็ก เต้พาตี๋เดินชมโรงลำตัด(14) ยี่เก(15) งิ้วจีน(16) ญวนหก(17) โขนกลางแปลง(18) แลการละเล่นอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อผ่านร้านขนมใดน่ากินก็จักซื้อให้คนตัวเล็กได้ลิ้มลอง
สองบ่าวนายเดินชมงานไปเรื่อยๆ แลหันมายิ้มให้กันเป็นระยะ จนมาถึงร้านรวงริมฝั่งน้ำ บนพื้นน้ำมีการเล่นเพลงเรือ(19) แลลอยเรือประทีปอยู่กลางน้ำ
“เราลอยกระทงกันเถิดพ่อ อีกมินานจักถึงเพลาที่แจ้งไว้กับนายสุก นายผลแล้ว ”
เต้ว่าพลางชักชวนตี๋ไปลอยกระทงริมฝั่งน้ำ เขามิได้นำกระทงมา จึงขอแบ่งดอกไม้ ธูป เทียนจากชาวบ้านที่ออกร้านขายของ แลนั่งทำกระทงของตนไปด้วย หากคุณเต้ก็ให้อัฐตอบแทน แม้แม่ค้านั้นมิอยากยอมก็ตามที
เมื่อได้กระทงดอกไม้ง่ายๆ ทั้งคู่จึงมาลอยที่ริมฝั่งน้ำ แสงเทียนมากมายส่องสว่างกลางผืนน้ำ กระทงน้อยใหญ่ลอยตามสายน้ำ นำพาสิ่งที่ผู้คนอธิษฐานให้ลอยตามน้ำ
เต้ ตี๋ นั่งอธิษฐานในใจเงียบๆ แลปล่อยกระทงให้ลอยไปตามน้ำเยี่ยงของคนอื่น เมื่อลอยกระทงออกไปแล้ว เต้จึงหันมาถามคนข้างกาย
“ เมื่อครู่พ่ออธิษฐานว่ากระไรบ้าง ”
“ บ่าวก็ขอขมา ลาโทษ แม่คงคา ดังเช่นที่เคยนั่นล่ะขอรับ ”
ตี๋ว่า พลางหลบสายตาของเต้ที่มองอย่างจับผิด ตนเองมิกล้าจักเอ่ยออกไปดอกว่า ตนนั้นขอให้ตัวเองมีบุญ แลวาสนาที่จักได้อยู่ข้างอีกฝ่ายไปตราบนานเท่านาน
เต้เห็นอาการหลบสายตาของตี๋จึงยกยิ้ม ด้วยรู้อยู่แล้วว่าตี๋มิได้บอกความจริงแก่ตนเสียทั้งหมด ตี๋เป็นคนที่โกหกมิเป็น หากเมื่อเจ้าตัวมิพูดความจริง ก็มักจักหลบตาเยี่ยงครานี้
“ เอาเถิด พ่อจักอธิษฐานกระไรพี่ก็มิได้ว่า แค่พี่อยากจักบอกว่า พี่อธิษฐานขอให้เราได้สมหวังกับรักในครานี้ แลให้แม่คงคาเป็นพยานว่า พี่นั้นสมัครใจรักพ่อจริงๆ ”
เพียงเท่านี้ที่เต้ว่า แต่คนฟังเยี่ยงตี๋นั้นใจเต้นระรัว เหมือนจักหลุดออกมานอกอก เขานั้นดีใจ แลปลื้มใจนักที่คุณเต้ให้ความสำคัญกับบ่าวอย่างเขาเช่นนี้
นอกจากการออกร้านของคนสยามแล้ว ยังมีการออกร้านของชาวต่างชาติอีกด้วย เต้พาตี๋เดินชมของที่ชาวต่างชาตินำมาวางให้คนสยามชม ตี๋นั้นตื่นตากับทุกสิ่งที่เห็น ยิ่งทำให้เต้ยินดีไปด้วย ที่ได้พาเด็กน้อยของตนมาเที่ยวชมงานเยี่ยงนี้
“ อันนี้เรียกว่ากระไรรึขอรับ ”
ตี๋ถามด้วยคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ แต่เต้ก็มิรำคาญเลยที่จักต้องตอบ
“ นาฬิกาพกของชาวฝรั่ง พ่ออยากได้รึไม่ ”
สิ้นคำถาม ตี๋ก็ส่ายหน้าเสียผมปลิว เต้ยกยิ้มอย่างขันๆ แล้วจึงหันไปคุยกับคนขายนาฬิกาด้วยภาษาที่ตี๋ฟังมิออก
“ ช่างเขาบอกว่า นาฬิกานี้สามารถสลักชื่อลงไปได้ พี่จึงให้เขาสลักชื่อพี่ แลชื่อพ่อ ลงไปทั้งสองเรือน ”
เต้หันมาบอกเมื่อเห็นว่าตี๋นั้นมีสีหน้าสงสัย
“ คุณเต้จักซื้อให้บ่าวรึขอรับ บ่าวมิกล้ารับดอกขอรับ มันคงจักหลายอัฐนัก ”
“ พี่มิได้ซื้อให้พ่อ แต่พี่ซื้อให้คนที่พี่รัก ”
ตี๋นั้นเกือบจักดีใจอยู่แล้ว เมื่อคุณเต้บอกว่า มิได้ซื้อนาฬิกาเรือนงามนั้นให้ตน แต่ต้องตระหนกไปยิ่งกว่าเดิม เมื่อคุณเต้แจ้งว่าซื้อให้คนรัก แลรับนาฬิกาการชาวฝรั่งที่ส่งให้หลังจากสลักชื่อไว้แล้วใส่มือของตน ก่อนจักหันไปพูดบางอย่าง ให้อัฐกับพ่อค้าชาวฝรั่ง
“ พี่จักเก็บไว้เรือนหนึ่ง แลให้พ่อเก็บไว้อีกเรือน พี่อยากจักให้นาฬิกาของเราเดินไปพร้อมกัน ”
เต้พูดขึ้นอีกครั้งหลังเดินร้านขายนาฬิกา สิ่งที่เต้พูดนั้นช่างมีผลกับใจดวงน้อยของตี๋ยิ่งนัก ดวงหน้างามซับสีเลือด มือน้อยยกนาฬิกาเรือนใหม่ขึ้นมองท่ามกลางแสงจันทร์ ชื่อของตน แลชื่อของคนที่ยืนอยู่ข้างๆนั้นเด่นชัดอยู่บนฝาครอบตัวเรือน แลมันก็เด่นชัดในใจของเขาทั้งคู่เช่นกัน
*****************************
เชิงอรรถ
(1) กำแพงมีหู ประตูมีช่อง (สำนวน) การที่จะพูดหรือทำอะไรให้ระมัดระวัง แม้จะเป็นความลับเพียงไรก็อาจมีคนล่วงรู้ได้
(2) ชุน (คำกิริยา) ซ่อมผ้าหรือแหเป็นต้นที่ขาดทะลุเป็นรูให้เป็นเนื้อเดียวกัน ด้วยการถักหรือด้วยวิธีอื่น ๆ (คำนาม) เครื่องมือสําหรับถัก
(3) ห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์ งานเทศกาลนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) จะเริ่มด้วยการห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์ก่อนวันงาน ๓ วัน เพื่อเป็นเครื่องหมายประกาศให้รู้ว่างานจะเริ่มขึ้นแล้ว การห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์ เป็นวิธีการประชาสัมพันธ์อันชาญฉลาด เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีการประชาสัมพันธ์อันรวดเร็วเช่นปัจจุบัน การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงให้จัดพิธีห่มผ้าแดงขึ้น จึงเป็นสัญลักษณ์ให้ชาวพระนครได้มองเห็นแต่ไกล และทราบว่างานภูเขาทองที่ทุกคนรอคอยกำลังจะมาถึงอีกวาระหนึ่ง
(4) ประดักประเดิด (คำวิเศษ) รีๆ รอๆ ที่ทําให้รู้สึกลําบาก ยุ่งยากกาย หรือใจ ขัดๆ ไม่ คล่อง
(5) สะบัดร้อน สะบัดหนาว (คำกิริยา) ครั่นเนื้อครั่นตัว มีอาการคล้ายจะเป็นไข้เพราะเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว โดยปริยายหมายความว่า มีความเร่าร้อนใจกลัวว่าจะถูกลงโทษหรือถูกตำหนิเป็นต้น เช่น ผู้ที่ทำความผิดไว้ พอเห็นผู้บังคับบัญชามาก็รู้สึกสะบัดร้อนสะบัดหนาว ร้อน ๆ หนาว ๆ หรือ หนาว ๆ ร้อน ๆ ก็ว่า
(6) เรือมาด , เรือมาดเก๋ง เป็นเรือเก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทย ขุดจากซุงไม้สัก ตะเคียน ขนาดต่างๆกันตามประเภทของเรือ โดยทั่วไปมีขนาด 3.5-4.5 เมตร เมื่อขุดภายในและโกลน (เกลาไว้ , ทำเป็นรูปเลาๆ) เป็นรูปมาด (ถ้าเพียงแต่ขุดไว้ แต่ยังไม่ได้เบิก เรียกว่ามาดเรือโกลน) ใช้ไฟลนให้เนื้อไม้ร้อนแล้วหงายใช้ปากกา ( เครื่องสำหรับหนีบของใช้ทำด้วยไม้หรือเหล็กก็มี) จับปากเรือผายออกให้ได้วงสวยงามเป็นเรือท้องกลม หัวท้ายรีรูปร่างคล้ายเรือพายม้า แต่หัวท้ายเรือแบนกว้างกว่า ไม่เสริมกราบ แต่มีขอบทาบปากเรือภายนอก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปากเรือ กลางลำกว้างเสริมกง เป็นระยะ หัวท้ายเรือมีแอกสั้นๆ ไม่ยื่นมากไว้ผูกโยงเรือ และแอกเหยียบขึ้นลงเรือ มีหลายขนาด ขนาดเล็กใช้พาย ขนาดใหญ่นิยมแจวมากกว่าพาย ใช้บรรทุกของหนัก ถ้าเดินทางไกลก็มีประทุนปูพื้นกลางลำเรือ จะเรียกว่าเรือมาดประทุน หากมีเก๋งกลางลำเรือจะเรียกเรือมาดเก๋ง สามารถทำประทุน และปูพื้นใช้อยู่อาศัยแทนบ้านเรือนได้
(7) ยาม เป็นการนับเวลากลางคืนในประเทศไทยสมัยโบราณ และพบในการพากย์ภาพยนตร์จีนที่เรียกว่า ชั่วยาม โดยในจีนแบ่ง 1 วันเป็น 12 ชั่วยามตามที่บอกไว้ในธงชาติสาธารณรัฐจีน ขณะที่หนึ่งยามของไทยมีค่าประมาณ 3 ชั่วโมง หลักการนับยามตามบาลี
คำว่า “ยาม” ที่เรานับกันตามแบบไทย ๆ กับ “ยาม” ของแขกตามที่ปรากฏในบาลีนั้นแตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะคืนหนึ่งเราแบ่งเป็น 4 ยาม ยามละ 3 ชั่วโมง
• ตั้งแต่ย่ำค่ำ คือ 18 นาฬิกา ถึง 3 ทุ่ม (21 นาฬิกา) เป็นยามที่ 1
• หลังจาก 21 นาฬิกา หรือ 3 ทุ่ม ไปถึง 24 นาฬิกา หรือ เที่ยงคืน เราเรียกว่า ยาม 2 หรือ 2 ยาม
• หลัง 24 นาฬิกา ไปถึงตี 3 (3 นาฬิกา) เราเรียกว่า ยาม 3
• และหลังจากตี 3 ไปจนย่ำรุ่ง หรือ 6 นาฬิกา เราเรียกว่า ยาม 4 ซึ่งเป็นยามสุดท้ายของคืน
8 นอนดาบ (คำนาม) การเล่นทำนองแสดงกล หรือแสดงความอยู่ยงคงกระพัน คือ ตั้งปลายหอกหรือหงายคมดาบเรียงกันเป็นแถว ผู้เล่นนอนลงบนนั้น บางครั้งทำเป็นขั้นบันได หงายคมดาบวางเป็นขั้นๆ แล้วเหยียบไต่ขึ้นไป
9 โตฬ่อแก้ว (คำนาม) การเล่นสิงโตแบบญวน ที่มีตัวประกอบ ๖ คน ผูกเป็นเรื่องสั้น ๆ มีคนล่อแก้ว , ญวนหก ก็เรียก
10 รำแพน (คำนาม) การเล่นอย่างโบราณชนิดหนึ่งในการพระราชพิธี ผู้เล่นนุ่งผ้าหยักรั้งสวมเสื้อคอกลม มือทั้ง ๒ ถือหางนกยูงข้างละกำ รำออกท่าต่าง ๆ เลี้ยงตัวอยู่บนราวลวด ในที่นี้ผู้แต่งขอใช้เป็นคำนาม
(คำกิริยา) แผ่หางกระดกขึ้นหรือแผ่ปีกแล้วเดินกรีดกรายไปมา (ใช้แก่นกยูง นกหว้า และนกแว่น)
11 ขนมบุหลันดั้นเมฆ ลักษณะของขนมจะคล้ายขนมน้ำดอกไม้ เป็นขนมชาววังคิดประดิษฐ์ขึ้นให้มีสีสันอุปมาอุปไมยเลียนแบบเพลงไทย ‘บุหลันลอยเลื่อน’ ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 มี 2 ส่วน คือ ส่วนตัวขนม ทำจากแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน น้ำดอกอัญชัน น้ำตาลทราย หยอดลงบนถ้วยตะไล เมื่อนำไปนึ่งตรงกลางจะบุ๋มลงไป ส่วนตัวหน้าขนม ประกอบด้วย ไข่ กะทิ น้ำตาลมะพร้าว และนำไปนึ่งต่อจนสุก
12 ขนมตะลุ่ม หรือขนมหน้าสังขยา เป็นขนมไทยโบราณ ๆ คล้ายๆ กับขนมถ้วย ที่หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อ หรือเคยได้ยินชื่อ แต่ยังไม่เคยเห็นวิธีการทำหรือไม่เคยเห็นตัวขนมจริง ๆ ขนมชนิดนี้ เป็นขนมไทยโบราณที่มีมาไม่ต่ำกว่าร้อยปี และไม่พบประวัติว่าใครเป็นคนค้นคิด หรือว่าทำขนมนี้ขึ้นในเทศกาลหรือโอกาศใดๆขนมตะลุ่ม มี สองส่วน คือส่วนตัวขนม ทำแป้งข้าวเจ้า แป้งเท้ายายม่อม แป้งมันสำปะหลัง น้ำปูนใส และหางกะทิ นำไปนึ่งจนสุก ส่วนของตัวหน้า ได้แก่ หัวกะทิ ไข่ และน้ำตาล ใส่แป้งข้าวเจ้าเล็กน้อย แล้วเทลงบนตัวที่สุกแล้ว นำไปนึ่ง เวลาเสิร์ฟตัดเป็นสี่เหลี่ยมขนาดพอดีคำหรือลักษณะตามชอบ เวลาจะรับประทานควรรับประทานพร้อมกันเพราะให้รสชาติที่หวาน มัน และมีกลิ่นหอมของกะทิยามรับประทานในคำเดียวกัน
13 ขนมเกสรชมพู เป็นขนมไทยโบราณชนิดหนึ่ง ลักษณะจะคล้ายๆ ข้าวเหนียวแก้ว แต่ต่างกันตรงที่ส่วนประกอบหลักเป็นมะพร้าวทึนทึก แต่มีความหวาน และวาวคล้ายๆ กัน เกสรชมพู่ต่างกับเกสรลำเจียกตรงที่รูปลักษณะ และส่วนผสมบางอย่างคือ เกสรชมพู่ทำเป็นคำๆ คล้ายกับเกสรชมพู่จริงๆ เกสรลำเจียก จะปั้นเป็นลักษณะรียาว หรือคล้ายๆ กระเปาะ และไม่ใส่ผงวุ้นในการทำนั้นเอง
14 ลำตัด เป็นเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองชนิดหนึ่งของไทย ซึ่ง นิยมร้องกันในเขตภาคกลาง ทั้งนี้ มีต้นตอมาจาก “ ลิเกบันตน”ของชาวมลายู ในต้นรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยลิเกบันตนดังกล่าว มีรูปแบบของการแสดงแยกออกเป็น 2 สาขา สาขาหนึ่ง เรียกว่า” ฮันดาเลาะ” และ “ ลากูเยา” และลิเกบันตนลากูเยา มีลักษณะของการแสดงว่ากลอนสดแก้กัน โดยมีลูกคู่คอยรับ เมื่อต้นบทร้องจบ ต่อมาเมื่อมีการดัดแปลงกลายเป็นภาษาไทยทั้งหมด จึงเรียกกันว่า” ลิเกลำตัด” ในระยะแรก และเรียกสั้น ๆ ในเวลาต่อมาว่า “ ลำตัด” ซึ่งมีลักษณะของเพลง และทำนองเพลงที่นำมาให้ลูกคู่รับ โดยมากก็มักตัดมาจากเพลงร้องหรือเพลงดนตรีอีกชั้นหนึ่ง
15 ยี่เก (คำนาม) ลิเก , การเล่นคล้ายละครรำ ดัดแปลงมาจากละครมลายู
16 งิ้วจีน หรือ อุปรากรจีน เป็นการแสดงที่ผสมผสานการขับร้องและการเจรจาประกอบกับลีลาท่าทางของนักแสดงให้ออกเป็นเรื่องราว โดยสมัยนั้นได้นำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ในพงศาวดารและประวัติศาสตร์มาดัดแปลงเป็นบทแสดง รวมทั้งยังมีการนำเอาความเชื่อทางประเพณีและศาสนาเข้าไปผสมผสานกับการแสดงงิ้วด้วย เดิมประเทศจีนมีงิ้วราว 300 กว่าประเภท ส่วนใหญ่จะเป็นงิ้วท้องถิ่น ส่วนงิ้วระดับประเทศ เช่น งิ้วปักกิ่ง, งิ้วเส้าซิง, งิ้วเหอหนัน และงิ้วกวางตุ้ง โดยงิ้วปักกิ่งเป็นงิ้วที่มีชื่อเสียงมากที่สุด โดยปัจจุบันถือเป็นตัวแทนงิ้วประจำชาติจีน
17 ญวนหก การแสดงกายกรรมของชาวญวนที่ขึ้นไปหกคะเมนตีลังกาอยู่บนปลายไม้ ทางราชการไทยตื่นเต้นกับการแสดงนี้มากถึงกับตั้ง "กรมญวนหก" ฝึกหัดกันเป็นเรื่องเป็นราว
18 โขนกลางแปลง เป็นการแสดงโขนแสดงกลางแจ้ง บนพื้นดิน หรือกลางสนามหญ้า สันนิษฐานว่าเป็นการแสดงโขนประเภทแรก จัดแสดงตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ไม่ทราบต้นกำเนิดแน่ชัด
19 เพลงเรือ เป็นเพลงพื้นบ้านที่เล่นกันในฤดูน้ำหลาก เป็นเพลงปฏิพากย์ชนิดเดียวที่ร้องเล่นกลางลำน้ำโดยพ่อเพลงและแม่เพลงอยู่คนละลำ จังหวัดที่เล่นเพลงเรือ ได้แก่ จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำในภาคกลาง เช่น อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี และพิษณุโลก เพลงเรือส่วนใหญ่จะถนัดร้องบทชิงชู้
******************************
สวัสดีขอรับ ข้าเจ้าโผล่หน้ามารายงานตัวแล้วขอรับ พร้อมกับเอาตอนต่อไปมาส่งแก่ทุกท่าน
ในตอนนี้นั้นมิได้มีกระไรมากนัก ส่วนใหญ่จักเป็นคุณเต้ที่ชอบแกล้งน้องตี๋
ข้าเจ้าต้องขออภัยอีกครา หากอธิบายท้ายบทนั้นเยอะเกินไป ข้าเจ้าเพียงต้องการจักนำเสนอเกร็ดสาระประกอบกันไป หากท่านใดมิต้องการจักทัศนา ก็เลื่อนผ่านเลยขอรับ
ข้าเจ้ามิทราบเลยว่าตอนนี้จักเป็นที่พึงใจของมุกท่านรึไม่ แต่ข้าเจ้าพยายามที่จักทำออกให้ให้ดีที่สุด
เชิงอรรถตอนท้าย หากมีข้อมูลใดผอดพลาด ข้าเจ้าจักต้องกราบขออภัยด้วยขอรับ ด้วยข้าเจ้าเองนั้นศึกษามาเพียงพื้นฐาน
ส่วนเรื่องงานภูเขาทอง หรืองานมนัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหารนั้น หากมีสิ่งใดผิดพลาดไป ข้าเจ้าขอน้อมรับขอรับ เนื่องด้วยข้าเจ้ายังมิเคยไปเที่ยวงานภูเขาทองเลยสักครา ที่แต่งออกมานั้นได้จากมโน แต่ตัวอักษรจากหน้าเว็บเท่านั้น
สุดท้ายข้าเจ้าคงต้องบอกว่า รบกวนติดตามตอนต่อไปด้วยนะขอรับ แล้วพบกันขอรับ
.....................ด้วยใจภักดิ์.......................
โปรดติดตามตอนต่อไป
…..Mariner_IX….