ขอบคุณทุกคนแทนคุณภัคD ด้วยนะคะ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประทับใจอีกเรื่องหนึ่ง และตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะเอามาเก็บไว้ในเล้าเป็ด
อ่านต่อเลยค่ะ
----------------------------------
เด็กผู้ชายคนนั้นคือหัวข้อสนทนาของเราบนโต๊ะอาหารมื้อเย็นวันนั้น ดูเหมือนพ่อจะจำไม่ได้ว่าเด็กคนนั้นชื่ออะไรแน่ระหว่าง จื้อเย้า และจื่อเย้า
“น่าจะจื้อเย้า คนจีนน่าจะต้อง จื้อ จื้อนี่แหละ”แม่ออกความเห็นทั้งที่พูดภาษาจีนไม่ได้สักคำเดียว
“แต่พ่อเคยได้ยินแต่ จื่อนะ อย่างจื่อเหวย จื่อหยาง”ดูเหมือนชื่อของพ่อจะฟังเข้าท่ากว่าเพราะเอามาจากหนังจีน
“เคยได้ยินแต่ตือโป๊ยก่าย ซือหยวน ตือฮวน ก็น่าจะเป็นจือเย้านะ” ย่าออกความเห็นบ้าง
เรารู้ทีหลังว่าจริงๆเด็กคนนั้นชื่อ จึเหยา และใช้เวลา2-3วันจึงจะเรียกถูกว่าเหยา ไม่ใช่ เย้า แต่เพราะเป็นภาษาที่ไม่คุ้นเคยและตอนนั้นผมยังเด็ก ผมจึงจำไม่ได้และเรียกเด็กผู้ชายคนนั้นว่า ‘พี่เย้า’ทุกครั้งที่เจอกัน แรกๆ พี่เหยาก็ปล่อยให้ผมเรียกอย่างนั้น จนวันหนึ่งที่พี่เหยาคงทนไม่ไหว
“พี่เย้า พี่เย้า”ผมตะโกนเรียกจากในร้านเมื่อเห็นพี่เหยาเดินผ่านหน้าร้านไป ผมวิ่งออกมาหน้าร้านเห็นพี่เหยายังเดินไม่สนใจ
“พี่เย้า ไปไหน?”ผมตะโกนดังขึ้น
“ตะโกนอะไรวะเอก หาเย้าตกดอยหรือไง?”พี่วิน เจ้าของร้านตัดผมตะโกนถามผมขณะขี่มอเตอร์ไซด์เข้ามาจอดที่ใกล้ๆบ้านผม
พี่วินเป็นเจ้าของร้านตัดผมที่อยู่ถัดไป4คูหา พี่วินเพิ่งกลับจากการไปเยี่ยมบ้านที่เชียงราย จึงยังไม่รู้จักพี่เหยาและ ดูเหมือนจะไม่ต้องการคำตอบ พี่วินเดินเข้าไปในร้านตนโดยไม่ได้สนใจพี่เหยาที่ยืนห่างออกไปเพียงเล็กน้อย พอพี่วินเดินเข้าร้าน พี่เหยาก็เดินกลับมาหาผม
“ไม่ใช่เย้าแต่เป็นแม๋วรู้จักไหม? แม๋วน่ะแม๋ว!”พี่เหยาพูดพร้อมใช้มือโตๆตบที่หน้าผากผม จนหน้าผมหงาย
“รู้จักซิ แม๋วที่ไม่ชอบอาบน้ำ ตัวเหม็นๆ” ผมพูดตามที่เคยได้ยินจากคนอื่นอีกที มือก็ลูบที่หน้าผากตัวเองแบบงงๆ
“พูดไม่ดี ตัวเองสิตัวเหม็น!” พี่เหยาว่าพลางใช้มือโตๆข้างเดิมตบลงหน้าผากผมอีกครั้งแล้วเดินจากไปไม่สนใจผมอีก
ผมเล่าให้พ่อฟัง พ่อก็หัวเราะ
“พี่เขาชื่อเหยา ห-ย-เอา เหยา เป็นภาษาจีนไม่ใช่เย้า”พ่อสอนโดยวิธีการสะกดให้ฟัง ทั้งยังสำทับ
“แล้วที่พี่เขาตบหัวเอกอีกหน ก็เพราะเอกพูดไม่ดี...เอกไม่รู้จักแม๋วเลยสักคน แล้วเอกพูดถึงเขาแบบนั้นได้ยังไง?”พ่อยังอธิบายต่ออีกยาว แต่ผมไม่ได้สนใจฟังมากนัก สนใจก็แต่ลองสะกดชื่อที่พ่อสอนในใจ
หลังจากนั้นเวลาเจอพี่เหยาผมจะเรียก พี่ แล้วเงียบไป 3 วินาทีจึงต่อด้วยเหยา ผมปล่อยให้พี่เหยาสงสัยอยู่ได้ไม่กี่วัน พอวันหนึ่งผมก็หลุดปากเรียก “พี่ หอ ยอ เอา เหยา”พี่เหยายืนหัวเราะอยู่นานจนผมอายระคนแปลกใจ เพราะตั้งแต่พี่เหยาย้ายมาอยู่ร่วมเดือน ผมแทบไม่เคยเห็นพี่เหยายิ้มหรือหัวเราะเลย นั่นเป็นครั้งแรกที่เห็นพี่เหยาหัวเราะ และหลังจากนั้นพี่เหยาก็ให้ความสนิทสนมกับผมเป็นพิเศษกว่าคนอื่นๆ แต่ก็เฉพาะเวลาอยู่กันตามลำพังสองคนเท่านั้น
พ่อเล่าว่าพี่เหยาเป็นลูกของเพื่อนทอม อายุ15 กำลังจะเข้าม.ปลายที่เชียงใหม่จึงมาอาศัยอยู่กับทอม
“เอ แต่ช่วงนี้ยังไม่ปิดเทอมเลยนี่ แล้วไม่เรียนหนังสือเหรอ?”แม่สงสัย แต่ไม่มีใครตอบแม่ได้ จนกระทั่ง7ปีผ่านไป ผมจึงรู้คำตอบ
เพราะบ้านผมเป็นร้านขายของร้านเดียวในหมู่บ้าน พี่เหยาจึงกลายเป็นลูกค้าคนหนึ่งของร้าน ผมเจอพี่เหยาก็เฉพาะเวลาที่พี่เหยามาซื้อของที่ร้านในวันที่ผมไม่ต้องไปโรงเรียนเท่านั้น โดยปรกติพี่เหยาจะไม่ค่อยออกไปไหน ไม่พูดคุยหรือเข้าไปทำความสนิทสนมกับใคร จึงไม่มีใครรู้จักพี่เหยามากไปกว่าที่ทอมแนะนำ
และอย่างที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้ว ว่าพี่เหยาให้ความสนิทสนมกับผมเป็นพิเศษถึงแม้บางครั้งผมจะไม่ชอบใจนัก เพราะบางเวลาที่ผมอยู่ที่ร้านคนเดียวเนื่องจากย่ามักแอบไปเอนหลังที่ในบ้าน หรือไปนั่งคุยกับเพื่อนบ้าน พี่เหยาชอบเดินหยิบโน่นหยิบนี่มาเต็มโต๊ะ พอผมใช้หัวเล็กๆของผมคิดตังค์เสร็จ พี่เหยาก็หยิบนี่เข้า หยิบโน่นออก ผมต้องคิดตังค์อยู่หลายครั้ง แล้วในที่สุดพี่เหยาก็หยิบเป๊บซี่ไปกระป๋องเดียว สุดท้ายก็เป็นหน้าที่ผม ที่จะต้องวิ่งเก็บของที่พี่เหยารื้อออกมา
“ทอนตังค์ผิดนี่!”พี่เหยาท้วงเมื่อผมส่งตังค์ทอนให้ในครั้งหนึ่ง
“ไม่ผิด 56บาท ก็ทอน44บาทไง” ผมชินกับการแกล้งของพี่เหยาจนไม่รู้สึกตกใจอะไรแล้ว
“งั้นคิดตังค์ผิด!”พี่เหยาพูดในสิ่งที่ผมเดาไว้ถูกแป๊ะ
“ไม่ผิด มาม่า 5 ห่อ 20 เป๊บซี่ 2 กระป๋อง 20 เป็น 40 ขนม 2 ห่อ 10 บาท เป็น50 กับไอติม อีกหนึ่งอัน 6 บาท เป็น56บาทก็ทอน 44บาท”ผมทวนถูกต้องทุกรายการ เพราะโดนแกล้งบ่อยๆ
“ผิด” พี่เหยายืนยัน
“ไม่ผิด”ผมมั่นใจ
“ผิดสิ !”แต่พี่เหยาดูจะมั่นใจกว่า
“ผิดตรงไหน?”ความมั่นใจผมเริ่มหาย ทั้งที่มั่นใจว่าคิดเลขไม่ผิดแน่ๆ
“ไม่มีไอติม...เอามาอีก 6 บาท”พี่เหยาบอกพร้อมแบมือหลามาที่ผม
“ก็พี่กินเมื่อกี้ไง ตอนเดินไปเดินมา”ผมยืนยันเพราะเห็น พี่เหยาเดินกินไอติมไปทั่วร้านขณะแกล้งหยิบโน่นหยิบนี่ให้ผมคิดตังค์ไปพลางๆ
“ไม่ได้กิน!”พี่เหยาเถียง
“พี่ขี้โกง กินแล้วไม่จ่ายตังค์!”ผมเถียง พร้อมเดินไปดูที่ถังขยะ แต่ไม่มีห่อ หรือ ไม้ไอติมเลย
“ก็บอกแล้วว่าไม่ได้กิน... เร็ว 6 บาท ไม่งั้นฟ้องน้าสุนะ”พี่เหยาขู่ ผมจำใจหยิบเงินให้อีก6บาท พี่เหยารับแล้วก็หิ้วของออกจากร้านไป ผมหวังจะให้พี่เหยาเดินกลับเข้ามาแล้วบอกว่าล้อเล่น แต่พี่เหยาก็ไม่กลับมา
“6บาทเองย่าไม่รู้หรอก เราก็เอามากินเองบ่อยๆ” ผมบอกกับตัวเอง
“แล้วถ้าพี่เหยาเอาอีกล่ะ”ผมถามตัวเอง นึกขอโทษย่าที่ต้องขาดทุนอีกครั้งละ6บาทถ้าพี่เหยามาอีก
เย็นนั้นย่าบอกว่าพี่เหยาเอาตังค์มาให้ 6 บาทเพราะผมลืมคิดค่าไอติม ผมโดนแม่ดุเรื่องไม่รอบคอบ แต่ก็โล่งใจที่ได้เงินคืน
ถึงแม้พี่เหยาจะแกล้งผมเกือบทุกครั้งที่มีโอกาส แต่ถ้าบางครั้งที่ผมนั่งทำการบ้านอยู่ พี่เหยาก็จะช่วยสอนและตรวจทานให้เสมอ
กลางเดือนพฤษภาคมปีนั้น ขณะที่ผมขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พี่เหยาก็ได้เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งของจังหวัด แม่ดูจะชื่นชมพี่เหยามากกว่าใครๆ เพราะโรงเรียนแห่งนั้นได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนอันดับต้นของจังหวัด แต่ไม่ว่าแม่จะใฝ่ฝันให้ผมได้เรียนที่นั่นหรือแม้ผมจะมีปัญญาสอบติด ทั้งแม่และผมต่างก็รู้ดีว่าผมไม่มีโอกาส เพราะนอกเหนือจากจะมีชื่อเรื่องการคัดแต่เด็กหัวกะทิแล้ว โรงเรียนแห่งนั้นยังมีชื่อเรื่องฐานะทางการเงินของผู้ปกครองอีกด้วย ดังนั้นเป้าหมายโรงเรียนระดับมัธยมที่แม่ตั้งเป้าไว้ให้ผมจึงเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัดแทน