มารยาทในการขอคัดลอกบทความเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อ ขอให้ บอกแหล่งที่จะนำไปเผยแพร่อย่างชัดเจนและสามารถให้เจ้าของบทความเข้าไปดูได้ด้วยนะครับ ซึ่งเป็นมารยาทที่พึงกระทำกับทุกๆ บทความ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องลิขสิทธิ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
สวัสดีครับ พี่น้องเล้าเป็ดทุกๆ ท่าน หลังจากที่ลองเอาข้อมูลดิบๆ มาโพสต์ไปก่อนหน้านี้แล้ว ดูมันกว้างและคลุมเครือไป อ่านแล้วเข้าใจยาก ไม่เจาะจงเนื้อหาให้เข้ากันกับ “วรรณกรรมออนไลน์” ที่จั่วหัวเอาไว้ วันนี้ฤกษ์งามยามดี เลยขอเอามาปัดฝุ่นเรียบเรียงใหม่อีกครั้ง จะได้อ่านแล้วทำความเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น และตรงประเด็นมากขึ้นกว่าเดิม เผื่อจะใช้เป็นประโยชน์ในการอ้างอิง หรือเป็นแนวทางอื่นๆได้
เรื่องของวรรณกรรม จัดว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ให้ทั้งความบันเทิง บันทึกสภาพแวดล้อมในขณะนั้นๆ หรือแม้กระทั่งเป็นแนวทางในการพัฒนาในอนาคต วรรณกรรมจัดว่าเป็นสิ่งที่เติบโตไปตามสังคมและกาลเวลาเสมอ และในปัจจุบันการเชื่อมต่อโลกไร้พรมแดนเข้าด้วยกันทำให้ช่องทางในการนำเสนอวรรณกรรมมีมากขึ้นและง่ายต่อการเข้าถึง จึงก่อให้เกิดวรรณกรรมรูปแบบใหม่ขึ้นมานั่นคือ “วรรณกรรมออนไลน์”
มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แค่เปลี่ยนวิธีการนำเสนอจากเดิม มนุษย์ใช้วิธีการบอกเล่าต่อๆ กันมาในรูปแบบนิทาน ก็เปลี่ยนมาใช้ใบลาน กระดาษ วรรณกรรมออนไลน์จึงเป็นเพียงแค่เปลี่ยนสื่อของวรรณกรรมจากยุคกระดาษมาเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้นเอง นี่แล่ะครับ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา เป็นที่มาของกระทู้นี้นั่นก็คือ “การละเมิดลิขสิทธิ์”
หลายต่อหลายคน
“ไม่รู้” และ
“ไม่เข้าใจ” ในกฎหมายลิขสิทธิ์ เมื่อเกิดปัญหาก็มักจะใช้สองคำนี้เป็นข้ออ้าง ซึ่งในทางกฎหมายไม่รับฟังข้ออ้างนี้ครับ (ประชาชนมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย = ต้องรู้และเข้าใจถึงจะทำได้ถูกต้อง เป็นการบังคับกลายๆ ว่าคุณต้องศึกษากฎหมายนะ แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ จึงมีอาชีพ “เนติบริกร” เอาไว้ให้พวกเราได้ใช้กันไงครับ)
ทีนี้เลยต้องสรุปให้ฟังง่ายๆ เอาไว้ในที่นี้ โดยจะแบ่งออกเป็น
1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. วรรณกรรมออนไลน์ การคุ้มครอง
เอาแบบเน้นๆ สั้นๆ ง่ายๆ ให้เข้าใจกันพอดูแลตัวเองได้ว่า ไม่ไปพลาดเหยียบเท้าใคร หรือให้ใครมาเหยียบเท้าครับ
1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตามพรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ ได้ให้ความหมายของคำต่างๆ ดังนี้
“ลิขสิทธิ์” หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใดๆ ตาม พระราชบัญญัตินี้ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น
“วรรณกรรม” หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย
“ผู้สร้างสรรค์” หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
ลิขสิทธิ์ จัดว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง เป็นการแสดงออกซึ่งความคิดให้ปรากฏออกมาเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่ง 9 ประเภท ได้แก่งานวรรณกรรม (หนังสือ) งานนาฏกรรม (ท่ารำ, ท่าเต้น) งานศิลปกรรม (ภาพวาด, งานพิมพ์) งานดนตรีกรรม (เนื้อร้อง, ทำนอง) งานโสตวัสดุ (เทป, ซีดี) งานแพร่เสียง แพร่ภาพ งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์
ถ้าพูดกันง่ายๆ คือความเป็นผู้รับผิดชอบในงานนั้นๆ ครับ แต่ก็แล้วแต่ว่า ผู้สร้างสรรค์จะให้สิทธิ์ใดๆ ไปบ้าง เช่น สำนักพิมพ์ ได้สิทธิ์ในการจัดพิมพ์ จัดทำรูปเล่ม และนำออกโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือจัดจำหน่าย แต่ไม่มีสิทธิ์ดัดแปลงแก้ไขเนื้อหา นั่นคือเป็นสิทธิ์ทางผู้เขียนสงวนไว้ให้กับตัวเองเท่านั้น
ส่วนสิ่งที่ยกเว้นไม่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ก็เห็นจะเป็น ข่าวสาร ข้อเท็จจริง กฎหมาย หนังสือโต้ตอบระหว่างหน่วยงานราชการ คำสั่ง คำพิพากษาของศาล
ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เว้นแต่
• 1.1 วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
• 1.2 ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท (ตรงนี้ต้องเป็นการได้รับมาอย่างถูกต้อง เช่น การซื้อ หรือมีผู้ซื้อมาให้ หรือ เจ้าของให้มา ไม่เกี่ยวกับการโหลดบิท เอาแผ่นผีมาก็อปปี้)
• 1.3 ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
• 1.4 เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
• 1.5 ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
• 1.6 ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ โดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
• 1.7 ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอน หรือทำบทสรุปโดยผู้สอน หรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
• 1.8 นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ