บทยี่สิบเอ็ด “สรุปแล้วจะเลือกทางนี้?”
“ไม่ได้เลือกอะไร ทำงานเสร็จแล้วก็ออก”
คำอธิบายเรียบเฉยไม่เป็นที่พอใจจนมัจฉ์เปลี่ยนจากการนอนเหยียดยาวอยู่บนโซฟาในห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ขึ้นมานั่งเอามือยัดเบาะเอาไว้ มองเพื่อนที่รู้จักกันมาเข้าปีที่สี่นั่งอ่านหนังสือนอกเวลาภาษาอังกฤษที่เห็นชินจนตาอยู่ตรงระเบียงด้วยความไม่เข้าใจเท่าไหร่นัก
“ต้องปฏิบัติตามตัวอักษรเคร่งครัดอะไรขนาดนั้นน่ะ”
“ไม่ได้เคร่ง ก็บอกเขาไว้แล้วว่าเข้ามาเคลียร์เรื่องต้นหลิวให้อย่างเดียว”
ที่อยู่ในใจน่ะคือด่าไปแล้วร้อยจบ กดคำสั่งพักหน้าจอสี่เหลี่ยมที่โชว์เนื้อหาในอีเมลฉบับล่าสุดเกี่ยวกับการลาออกของคนตรงหน้า เห็นแล้วก็หงุดหงิดไม่อ่านดีกว่า
ชอบทำอะไรไม่เคยคิดจะปรึกษาเพื่อนก่อน
“แล้วทำไมไม่อยู่ต่อจนจบ อีกแค่เดือนกว่าเอง”
“กูไม่ชอบเอาเปรียบคนอื่น อะไรที่ไม่ใช่ของกูก็ต้องปล่อย”
“ตอแหลจังธรรม”
“พอพูดเรื่องจริงมึงก็ใส่ร้ายกู”
จงใจกระแทกเสียงหัวเราะ ยิ่งเห็นท่านั่งสุดแสนจะสบายใจ มีหนังสือวางอยู่บนตักราวกับเป็นวันพักผ่อนที่แสนจะวิเศษแล้วอยากจะเดินไปคว้าหนังสือในมือแล้วขว้างทิ้งไปเสีย
ทำไมจะไม่รู้ล่ะว่าเพื่อนที่แสนจะรักความเป็นส่วนตัวหอบหนังสือมาถึงบ้านของเขาด้วยเหตุผลอะไร คนเรามันก็ไม่ได้เข้มแข็งตลอดเวลาอย่างนั้น
“คนอย่างมึงอะธรรม สำเหนียกเอาไว้นะถ้าไม่มีกูก็ไม่มีใครที่ทนอยู่กับมึงได้แล้ว” กระแหนะกระแหนตามประสาของคนวงในที่พอจะเข้าใจความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย “เพราะตอนนั้นมึงก็ช่วยอยู่เป็นเพื่อนกูหรอกนะ กูเลยยอม”
“มึงบังคับให้กูมาหาต่างหาก กูจะกลับห้องก็ไม่ให้”
“ไม่ มึงห่วงกู”
“คนที่บอกเลิกเขาเองแล้วก็มาซึมเองอะนะ” ไอ้การทำเสียงเฮอะอย่างนั้นคืออะไรกัน “ห่วงทำไม ทำตัวเองทั้งนั้น”
ยืดตัวไปหยิบแก้วใสรบรรจุน้ำชายี่ห้อที่ดื่มเป็นประจำมาดื่มดับความร้อนของอารมณ์ มองความเข้มของแสงแดดด้านนอกแล้วก็ไม่อยากจะขยับตัวออกไปเจอความรุนแรงของธรรมชาติเลยสักนิด
“เกลียดมึงอะสัทธา”
“เกลียดเหมือนกันมัจฉ์” คงเป็นความสัมพันธ์ที่หาไม่ได้ในคำนิยามทั่วไป ต้องบอกว่าเกลียดจนแทบจะฆ่ากันตายนี่แหละถึงจะสบายใจ ถ้าบอกว่ารักกันเมื่อไหร่คงโลกถล่ม “จะตีกันก็เรื่องของพวกมึง เลิกเอากูไปเกี่ยวสักที เหนื่อย”
หมั่นไส้คนทำหน้าระอาเสียเต็มประดา เขาเลยเดินไปรบกวนการอ่านด้วยแกะตัวเองจากบนโซฟาเดินไปยังส่วนนอกกระจกใสบานใหญ่ ยันตัวขึ้นไปนั่งบนที่เท้าแขนเพื่อทำลายทุกสมาธิแทน ขอบอกเลยว่าถ้ายังทำเป็นเก๊กอยู่จะได้มีการขยับลงไปนั่งตักแทนแน่
“ไม่ จะให้มึงปวดหัวอย่างนี้ไปอีกนานเลย”
“ทำไมพวกมึงถึงได้เห็นแก่ตัวกันจัง”
“เราทุกคนต่างหากธรรม” การปิดหนังสือลงแล้วค่อยๆ ยกคางขึ้นมาเชิดหน้าใส่นี่มันแสนจะเป็นสัทธา ถ้าเป็นน้องตุลนี่คงก็ทำหน้าหงอยไปแล้วแต่พอดีนี่คือมัจฉ์ไง
เรื่องอะไรจะยอมแพ้กัน
หนึ่งความสงสัยผุดขึ้นมาเลยขยับปากถาม “มึงเคยคิดไหมว่าเราไม่น่าจะมารู้จักกันเลย”
“ตลอดเวลา”
ก็เพราะว่าสามารถปากร้ายเช่นนี้ใส่กันได้ตลอดราวกับเป็นแหล่งระบายอารมณ์ชั้นดีนี่แหละมั้งเลยยังคบกับได้มาจนถึงทุกวันนี้ มัจหยิบหนังสือเล่มกำลังดีในที่วางอยู่ข้างตัวขึ้นมาอ่านชื่อเรื่องแล้วเปิดดูเนื้อหาคร่าวๆ ไอ้เรื่องความรักแสนโรแมนติกนี่ไม่น่าจะไปด้วยกันได้เลยนะ
ทำเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีแต่ปฏิบัติเป็นศูนย์ไปได้
“ไม่ใช่แค่รู้จักมึงนะ ฟีนด้วย ตัวทำลายชีวิตกูชัดๆ”
คิดย้อนไปแล้วก็ไม่เห็นว่าจะมีช่วงไหนที่เป็นอย่างที่บอก สำหรับเขาแล้วมันเป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแสนจะโอบอ้อมอารี เศร้าใจเหลือเกินที่เพื่อนมองว่ามันเป็นการทำลายน่ะ
“อันนั้นกูช่วยอะไรไม่ได้”
“ไปจัดการคนของมึงบ้าง ชักจะเอาใหญ่ ...วันก่อนแม่งก็แกล้งให้อาจารย์ถามกูทั้งคาบ”
“ไม่ใช่คนของกู”
“แต่อดีตก็เคยคบ”
“หนึ่งสัปดาห์อย่าเรียกว่าคบ ขอเถอะ”
กลอกตามองบน นึกแล้ววันนั้นไม่น่าหลุดปากเล่า
“แต่มันก็ขยันมาเซอร์ไพรส์วันที่เลิก”
“คนประหลาด”
“แต่ก็ชอบ กูรู้น่า”
ยู่หน้าไม่พอใจคนรู้ทัน ตอนแรกว่าจะเถียงว่าชอบดอกไม้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องชอบคนให้ หากพอพิจารณาให้รอบด้านแล้วมันมีแต่ช่องว่างให้เพื่อนได้ถล่มก็เลยเงียบดีกว่า
หาเรื่องอื่นคุยไปเรื่อยจะได้หลุดออกจากหัวข้อก่อนหน้า คือเขาน่ะอยากกลับเรื่องที่ลาออกไม่ปรึกษาใครแต่ดูเห็นแล้วก็บอกได้ว่าเจ้าของหนังสือน่ะไม่อยากจะพูดถึงมันเลย ตอนนี้เรื่อง
“แล้วจะมีผลเมื่อไหร่” ตั้งใจว่าจะทำให้มันติดตลกด้วยการแทรกเรื่องอื่นเข้าไป “คือปกติเคยแต่ไล่คนออกอะ ไม่ชินกับการมีคนลาออก”
มองกลับไปตั้งแต่เริ่มทำงานมาก็ยังไม่เจอเคสที่สมัครใจออกเอง ใครก็ตามที่มาอยู่ตำแหน่งนี้ไม่ปรารถนาที่จะลงจากบัลลังก์ตัวสูงง่ายๆ หรอก อยู่กับชื่อ ตำแหน่ง และสิทธิพิเศษกันไปจนกว่าจะพอใจ
“สองสัปดาห์มั้ง ไม่ชัวร์”
“แล้วไม่ต้องอ่านเตรียมแข่งเหรอ”
“ไม่น่าจะต้องนะ มันได้อย่างที่ต้องการไปแล้วนี่” ถ้าฟังจากแค่น้ำเสียงก็คงคิดว่าเป็นการบอกเล่าทั่วไป ส่วนถ้าได้เห็นท่ายักคิ้วประกอบด้วยนี่น่าจะมีสิทธิได้วางมวยกัน “คำว่าชนะเลิศอะ”
“เด็กเก็บกด”
“ที่มีมึงเป็นต้นเหตุ”
มัจฉ์ยักไหล่ไม่ยี่หระ “กูไม่ได้ทำอะไรสักหน่อย”
ค่อนไปทางเป็นเรื่องขำขันที่เอากลับมาเล่าเมื่อไหร่ก็ยังสร้างความสุขได้เสมอ ณ จุดนั้นเขาก็แค่ทำหน้าที่ของตัวแทนนักเรียนที่ดีในการแข่งขัน ให้ติวแบบไหนก็ทำตามไม่คิดมาก พอไปแข่งก็หวังเอาไว้แค่ว่าเอาให้ไม่อายชื่อโรงเรียนก็พอ ไม่คาดฝันถึงตำแหน่งชนะเลิศสักนิด
พูดเล่นน่ะ
เห็นสีหน้าคนแพ้แล้วมันบันเทิงจะตาย
“ไม่เชื่อ”
“เรื่องของมึง”
“เดี๋ยวฟีนอยากจะอ่านเมื่อไหร่เดี๋ยวก็ทักมาเอง” พอเห็นเพื่อนยิ้มร้ายเช่นนั้นแล้วไม่น่าไว้วางใจเลย “จริงๆ คือถ้าบอกว่ากูอยู่นี่มันน่าจะแจ้นมาทันทีแหละนะ”
ชินกับคำเย้าแหย่ทำนองนั้นแล้วเลยเมินผ่านความพยายามที่จะปั่นประสาทไปได้ไม่ยาก ชักจะเมื่อยกับการนั่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพเช่นนี้ก็เลยลุกขึ้นยืน ยืดเส้นยืดสายด้วยท่าที่จำได้ว่าเคยเรียนสมัยประถม ทำตัวเป็นเจ้าของบ้านที่ไม่ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อแขกสักนิด
“มันอยู่ชล ไม่มาหรอก”
“ใส่ใจ”
“เฟซบุ๊กแจ้งเตือนไหมล่ะ”
“ต่อให้ไม่แจ้งมันก็เล่าทุกเรื่องให้มึงฟัง”
สงสัยต้องความเข้าใจผิดหน่อย “ก็ไม่ได้ทุกเรื่องขนาดนั้น”
“เพราะว่าต่อให้ฟีนมันไม่บอกมึงก็รู้อยู่ดีไง”
ปีนข้ามรั้วไม้ออกไปด้านนอก เท้าเปลือยเปล่าแตะลงกับพื้นหญ้าเขียวชอุ่มกินพื้นที่พอสมควร หรี่ตาลงยามได้รับแสงมากกว่าที่ควร เขาย่อตัวลงจนข้อพับชิดเพื่อให้สะดวกต่อการสอดส่องดูความเรียบร้อยของไม้พุ่มรอบระเบียงที่ไม่ได้รับการตัดแต่งมาสักพักใหญ่ จะว่าไปแล้วก็ได้เวลาแต่งทรงแล้วล่ะ
“เนี่ย มึงเงียบ มึงกำลังวางแผนอีกล่ะ”
หน่ายเสียจริงเวลาที่ถูกรู้ทัน ก็ไม่ชอบเท่าไหร่ส่วนอีกใจก็คิดว่ามันก็เป็นความรู้ว่าสึกว่าได้รับการใส่ใจดีเหมือนกัน
“กูกำลังคิดว่าจะแต่งต้นไม้ยังไง”
“ตามสบาย”
“มึงยกกล่องตรงนั้นมาให้หน่อย”
ชี้นิ้วไปยังกล่องเก็บอุปกรณ์ตกแต่งต้นไม่ที่วางชิดมุมอยู่ด้านหลังเก้าอี้หวายที่สัทธานั่งอยู่ มาถึงขั้นนี้แล้วก็จัดการหน่อยเลยแล้วกัน
อุ้มกล่องไม้ขนาดใหญ่ด้วยแขนทั้งสองข้างตามน้ำหนักที่ไม่ใช่เล็กน้อย ทำมาตั้งแต่เด็กแล้วเลยไม่ต้องเสียเวลามานั่งสงสัยว่าอุปกรณ์นี้ชื่ออะไร ใช้งานอย่างไร เขาเลือกกรรไกรตัดแต่งออกมาเล็มในส่วนที่เห็นแล้วรำคาญตาออกไปทีละน้อย
“เก่งนะ”
“หมายถึง”
“ไม่คิดว่าคนอย่างมึงจะรักโลก รักต้นไม้”
“มึงไม่คิดว่ากูรำคาญเลยจะตัดให้พ้นสายตาบ้างเหรอ”
ตลอดเวลาไม่เงยหน้าขึ้นมาคุยกับคู่สนทนาที่ยังนั่งไขว่ห้างอยู่บนเก้าอี้หวายตัวเดิม มือจับเช็กดูว่ามีตรงไหนที่ต้องการการดูแลอีกบ้าง พอเจอจุดที่ไม่พอใจก็จัดการจัดแต่งเสีย
“ถอนทิ้งง่ายกว่าไหม”
“มันก็ยังมีประโยชน์ ...มึงเดินไปหยิบหมวกสานในห้องให้หน่อย”
หวังดีว่าถ้านั่งนานไปเดี๋ยวสุขภาพจะเสีย ก็เลยให้ได้ขยับตัวเสียหน่อย เพื่อนตัวดีของเขาไม่บ่นหรือว่าอิดออดหากแสดงออกถึงความไม่เต็มใจด้วยการลุกขึ้นชักช้าอืดอาด พอกลับเข้าไปด้านในห้องของนั่งเล่นก็จงใจเดินไปอีกฝั่งทั้งที่เห็นตำตาว่าหมวกที่เขาว่ามันแขวนอยู่ตรงไหน
ไม่มีใจจะบ่นก็เลยปล่อยให้ทำตามใจ กระเถิบตัวเองไปหาจุดที่คิดว่าสมควรได้รับการจัดการต่อไป
กล่าวคำขอบคุณเล็กน้อยยามสัมผัสถึงบางสิ่งที่ครอบลงมาบนศีรษะ จากหางตาคือสัทธาไม่ได้กลับไปนั่งบนเก้าอี้แต่ยืนพิงกับระเบียงแทน
“มึงดูหน้าโง่มากเลยเวลาอยู่กับต้นไม้”
“ส่วนมึงอะโง่ทุกเวลา” เสียงหืมในลำคอคงแปลได้ว่าสัทธาไม่เข้าใจมัน ก็เลยต้องอธิบายเพิ่มไปหน่อย
“ที่กูกับฟีนทำอะ ก็แค่จะลากต้นหลิวออกไป ไม่ได้สนว่าใครจะเข้ามาแทน” ตาสนใจแต่พื้นใบเขียวตรงหน้า มือยังไม่หยุดตัดแต่ง ส่วนปากก็คุยไปเรื่อย “มันไม่มีความจำเป็นอะไรเลยธรรม มึงไม่ต้องกลับมาก็ได้”
“ก็บอกแล้วว่า...”
ระคายหูกับคำอ้างร้อยแปดจนแทรกประโยคอื่นเสียเลย “แต่มึงก็ทำ เพราะมึงรู้ว่ามันเป็นอะไรที่น้องตุลอยากเห็น เขาอยากให้มึงได้นั่งบนเก้าอี้ตัวนั้น”
“...”
ความเงียบเป็นคำตอบที่มัจพอใจที่สุด
“ใจดีเกินไปแล้วนะ นอกจากกูสองคนไม่มีใครเข้าใจมึงหรอก”
“ก็ไม่ได้บอกว่าอยากให้เข้าใจ”
ถอนหายใจระอาให้คนที่ปราดเปรื่องในเรื่องเรียนและการทำงาน แต่เรื่องการจัดการชีวิตติดลบ
“แล้วแต่”
“แล้วเรื่องฟีน เอายังไง”
“ก็อยากขวางนะ เคยขู่ไปแล้วด้วย แต่ว่าก็อยากให้ได้เหมือนกัน”
ใจแลกใจ ถ้าจะไม่มีความลับต่อกันก็ต้องเปิดปากเล่าเรื่องที่รู้อยู่แล้วออกไป
คนอย่างนั้นน่ะถ้ามีช่องว่างให้ใช้ประโยชน์เมื่อไหร่ต้องตะครุบเอาไว้ อย่างเรื่องนี้นี่คือบอกเลยว่าเล็งมาตั้งแต่ต้นปีแล้วแหง อาจวางเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วด้วยซ้ำ ใครสั่งใครสอนให้กลายเป็นคนเจ้าเล่ห์ถึงขั้นนี้
“เพราะมองตามจริงแล้วนอกจากน้องตุลก็ไม่มีใครเวิร์กแล้ว”
“คนใหม่ไง”
“ขอล่ะ ไม่เอาพวกที่เข้ามาแบบฝันหวานไม่ดูความจริง ไม่เอาพวกที่อ้างว่าตัวเองมีประสบการณ์มาเยอะแยะแต่ว่าตอนสุดท้ายแล้วก็ทำอะไรไม่เป็นระบบสักอย่างได้ไหม”
เรื่องนี้คือขอละไว้ในฐานที่เข้าใจเลยเถอะ มัจฉ์น่ะไม่กล้าอวดว่าผ่านประสบการณ์การทำงานมาจนเอาไปอวดอ้างความน่าเคารพจากใครทั้งนั้น เขาตระหนักอยู่เสมอว่าโลกใบนี้มันกว้างใหญ่เกินกว่าที่จะเอ่ยออกไปได้เต็มปากว่าเราเป็นพวกที่สูงส่งกว่า
“อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดธรรม ห้ามได้ที่ไหน”
“ก็ห้ามได้อยู่นะ”
“ยาก ฟีนเขาคิดมาหมดแล้วไงว่าถ้าทำอย่างนี้อะ พวกเราจะไม่ยอมขวางแน่”
“มันไม่คิดว่าเดือนสิบจะไม่ตกลงบ้างเหรอ”
“หุบปากถ้าจะพูดอะไรโง่ๆ อย่างนั้นนะสัทธา”
นี่ไม่ใช่คำพูดรุนแรงสำหรับพวกเขา ไม่ต้องตกใจไป
คือกับเรื่องนี้น่ะขอใส่อารมณ์หน่อย คือคิดได้แค่นั้นเหรอ กับเด็กที่ถึงขั้นว่าเปลี่ยนคณะการเรียนมาเริ่มต้นใหม่เพราะผู้ชายผมยาวใส่แว่นกรอบเหลี่ยมชอบทำตัวเหมือนลุง ดูจากภายนอกแล้วโคตรจะไม่น่าพิสมัย เขาเองตอนที่เจอกันครั้งแรกยังคิดเลยว่านี่ซิ่วมากี่รอบ
แล้วนี่คือตำแหน่งเดียวกับที่คนที่ตัวเองบูชาเลยนะ เรื่องอะไรจะปล่อย
ยิ่งมีเรื่องลาออกเข้ามาเอี่ยวแล้วด้วย
“แต่ถ้าทำอย่างนี้สุดท้ายระบบมันก็ไม่ได้รันอย่างที่ควรเป็น”
“บิดเบี้ยวมากๆ จะได้แตกหักสักทีไง” คิดอย่างที่ออกความเห็นจริง ในฐานะคนที่ไม่มีความเมตตาต่อสัตว์โลกเท่าไหร่การที่ปล่อยให้อยู่ในจุดที่ไม่สามารถยื้อให้อยู่ในสภาพเดิมได้แล้วค่อยสร้างมันขึ้นมาใหม่ง่ายกว่าเยอะ “จะได้เอาพวกตัวปัญหาออกไป การคัดเลือกของธรรมชาติน่ะมีประสิทธิภาพกว่าที่คิดนะ”
“มันก็มีทายาทอยู่เรื่อยๆ”
“ธรรม พวกเราปกป้องน้องเขามานานเกินไปแล้ว ได้เวลาปล่อยให้บินเองสักที คือมันไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ว่าเราก็ทำได้แค่มองเขาเรียนรู้และเติบโต”
ให้ความเห็นตามที่คิด ถึงจะเอ็นดูเดือนตุลาแค่ไหนมันก็ต้องยอมรับว่าจะจับมือเดินไปตลอดเส้นทางจนกว่าจะถึงเส้นชัยคงเป็นไปไม่ได้ รวมถึงเด็กคนนั้นคงไม่มีทางยอมให้เป็นเช่นนั้นแน่
“บินได้สูงเท่าไหร่มันก็ต้องอยู่ที่ความทะยาน จะป้องกันตัวเองจากศัตรูได้เท่าไหร่นั่นก็อยู่ที่การเอาตัวรอด ส่วนถ้าไม่ไหว...ก็แค่หล่นลงมา”
เสียงกรรไกรตัดกิ่งไม้อ่อนที่กำลังออกดอกชูช่อเด่นดังเป็นครั้งสุดท้าย พอใจกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพุ่มไม้อยู่คนเดียว มัจฉ์ยกไม้ดอกขนาดเล็กขึ้นมาอยู่ในระดับสายตา กลีบสีขาวบอบบางสวยงามสมกับเป็นสิ่งที่สรรค์สร้างจากธรรมชาติ หากในใจก็เสียดายที่มันจะโรยราไปในอีกไม่กี่ชั่วโมง
ขยับมุมปากเล็กน้อยเป็นการบอกลาก่อนปล่อยให้ร่วงหล่นตามกฎแรงโน้มถ่วง
“โลกนี้มันก็เป็นอย่างนั้นไม่ใช่เหรอ”
แด่สิ่งที่ไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา และไม่มีอยู่จริง
***
กลับไปลองดูวันที่เปิดเรื่องแล้วก็อึ้งไปหลายวินาทีอยู่นะคะ (หัวเราะ) อยู่กันมานานมากเลย อย่างที่เคยบอกว่าเรื่องนี้ความจริงแล้วอยู่ในแพลนการแต่งหลังจากที่จบเรื่องหลอกลวงรัก แต่ว่าเจ้าก็แว้บไปเขียนไม่มีความจริงในความจริงก่อน บวกกับที่ไปเรียนต่อด้วยจนกลายเป็นว่าเรื่องนี้ถูกทิ้งยาวเลยค่ะ
ปกติแล้วเจ้าเป็นคนที่เขียนทอร์กท้ายเรื่องยาว และมั่นใจว่าเรื่องนี้น่าจะยาวกว่าเดิมไปอีกค่ะ (ฮา) จะเริ่มจากที่เคยสัญญาว่าทำไมเจ้าถึงตั้งชื่อเรื่องนี้ด้วยคำที่เจ้าเกลียดตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน คำนี้อยู่ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมค่ะ คำเต็มของมันคือ ‘อันมิอาจก้าวล่วงได้’ ซึ่งตัวมาตรานั้นมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับที่เจ้าเขียนในเรื่องนี้หรอกนะคะ เจ้าก็แค่รู้สึกถึงเส้นอะไรบางอย่างที่แบ่งเขตกั้นระหว่างตัวอักษรพวกนั้น มันเป็นความคิดที่ว่า โห ต้องใช้คำขนาดนั้นเลยเนอะ พอเอาไปโยงกับประสบการณ์การเรียนและการทำงานในมหาวิทยาลัยทั้งหมดแล้วเจ้าก็เลยคิดว่านิยายเรื่องนี้แหละที่จะเป็นตัวสะท้อนฉากจบชีวิตในวัยเรียนของฉัน (ฮา)
เจ้ามีอะไรที่อยากเขียนลงไปในเรื่องนี้เยอะมาก นั่นเลยทำให้เรื่องนี้ยากที่สุดในแง่ที่ว่าจะเรียงลำดับเนื้อหาอย่างไรให้มันบาลานซ์กันทั้งสองฝั่ง ทั้งเรื่องวิชาการที่เจ้าอยากจะเล่าแล้วก็ความสัมพันธ์ของตัวละครด้วย คือเอาจริงบางครั้งกลับมาอ่านแล้วก็คิดว่านี่ฉันเขียนอะไรของฉันอยู่นะ ต้องยากอย่างนี้เหรอ (หัวเราะ) มันก็อาจจะดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวอยู่บ้างแหละค่ะ
เริ่มต้นที่อะไรก่อนดี โครงเรื่องแล้วกัน เจ้าวางเอาไว้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายในวัยมหา’ ลัย คิดอย่างแรกเลยคือต้องคณะนิติแหละ จะเป็นคณะอื่นก็คงไม่ใช่เรื่อง แต่ว่าจะให้นักศึกษามาเล่าเรื่องพวกนี้ก็แอบคิดว่ามันจะยากไปหน่อยไหมนะ เขียนให้มันสอดคล้องกันยากมากเลย เจ้าก็เลยเลือกที่จะสร้างองค์การนี้ขึ้นมาค่ะ (ซึ่งในความเป็นจริงเจ้าเข้าใจว่าไม่น่าจะมีใครทำ) เทียบระบบจากองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มีเก้าคน ส่วนเรื่องวิธีการเลือกนั้นเจ้าไม่ได้เทียบมาค่ะ เพราะคิดว่าถ้าให้มันเป็นการสอบแบบสอบผู้พิพากษาจริงๆ ไม่น่าจะมีใครได้เป็น (หัวเราะ)
พอเล่าเรื่องนี้แล้วก็ย้อนความเป็นเรื่ององค์การอื่นด้วยเลยแล้วกัน เจ้าจะไม่เหมารวมว่าการทำงานของสองฝ่ายนี้ในความเป็นจริงของแต่ละมหาลัยจะเป็นรูปแบบไหนนะคะ ที่เคยทำงานมาก็เข้าใจว่ามันมีระบบโครงสร้างที่แตกต่างกันออกไปแหละ อยู่ที่ระเบียบตั้งแต่แรกด้วยว่าให้ขอบเขตอำนาจหน้าที่แค่ไหน ที่เจ้าเจอมาคือเจ้าปวดหัวกับการแบ่งอำนาจหน้าที่ที่ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นมากๆ เลยค่ะ มันกลายเป็นว่าทฤษฎีในเรื่องพวกนี้ปรับใช้กับความจริงไม่ได้เลย แล้วมันกลายเป็นความไม่เข้าใจค่ะ ไม่เข้าใจมากเลยว่าทำไมถึงไม่แก้ไขทำให้ถูกต้อง ทำไมถึงยังยึดกับสิ่งที่ไม่ใช่ขนาดนั้น
แล้วยิ่งไปได้เข้าไปลองทำในหลายแง่ หลายมุม เจ้าคิดมาเสมอเลยค่ะว่าการเมืองในระดับมหาวิทยาลัยนี่น่ากลัวนะ ในแง่ที่ว่าแทนที่มันจะทำให้เติบโต กลับกลายเป็นว่าเจ้ายิ่งหมดความเชื่อมั่นค่ะ ซึ่งมันสะท้อนอยู่ในเรื่องแหละ ก็บอกได้ว่าในบางครั้งสิ่งที่เห็นว่ามันเหมือนไม่มีอะไร มันมีจริงนะคะ การเมืองข้างในมันมีอยู่และไม่มีทางหายไปง่ายๆ หรอก
โจทย์เลยเป็นว่าเขียนแบบไหนที่จะทำให้รู้สึกว่าเรื่องพวกนี้มันไม่ได้ไกลตัวค่ะ เอาง่ายๆ เลยตั้งแต่ว่าการเลือกตั้งตอนเราอยู่ในมหาลัยนี่แหละ เราเคยไปใช้สิทธิกันหรือเปล่า มันมีใครบ้างที่ใช้ประโยชน์จากความไม่สนใจของเราตรงนั้น คือเจ้าก็เคยเป็นคนที่ไม่สนใจนะคะ คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาตลอดเลย ใครจะเป็นผู้นำมันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราสักหน่อย อยู่แค่สี่ปีเดี๋ยวก็ไปแล้ว จนได้ลงไปทำงานเองค่ะ ถึงได้รู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำงานในเงื่อนไขล้านแปด (ที่มีอุปสรรคใหญ่ที่สุดชื่อว่ามหาวิทยาลัย) จนทั้งเข้าใจแล้วก็เสียใจที่ต้องปล่อยให้เวลานั้นมันดำเนินไปในแบบที่ผลออกมาเหมือนกับว่าตัวเองเพิกเฉยกับมันค่ะ
บวกกับช่วงที่ผ่านมาเจ้าได้กลับไปลงสนามจริงค่ะ สนามที่ยิ่งทำให้เจ้าไปต่อไม่ถูกกับความเชื่อที่เคยมี สุดท้ายก็เลยได้แต่บอกตัวเองว่าใช่ การเมืองมันก็อย่างนั้นแหละ ต่อให้ในระดับไหนก็ตามทีเถอะ แล้วความตลกคือพอก้าวเข้าไปแล้วถอยออกมาไม่ได้เลยค่ะ กลายเป็นว่าชีวิตถูกล้อมไปแล้วเสียอย่างนั้น ซึ่งไม่ดีหรอกค่ะที่จริงน่ะ (หัวเราะ) อีกอย่างคือเจ้าได้มีโอกาสคุยกับคนที่ยังมีไฟค่ะ ซึ่งมันตั้งคำถามใหญ่ให้เจ้าจริงๆ นะคะว่าคนเหล่านี้เขายังยืนหยัดอยู่ตรงนั้นได้ยังไง เขาไม่สูญสิ้นบ้างเหรอ ก็ได้เรียนรู้มาเยอะค่ะ
ที่เขียนมาทั้งหมดเจ้าไม่ได้อยากจะให้ทุกคนหมดหวังไปกับเจ้าด้วยนะคะ คือมันก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมาแหละ ส่วนหนึ่งเจ้าดีใจนะคะที่เห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง มันมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับทุกสิ่งรอบตัวมากขึ้น
ส่วนต่อมาก็คงเป็นเรื่องที่เขียนลงไป คือยากที่สุดคือเขียนแบบไหนให้ไม่อันตรายกับตัวเองแต่ก็ยังชัดเจนพอที่จะสื่อกับคนอ่านว่ามันหมายถึงอะไรค่ะ (ยิ้ม) มันเป็นเรื่องที่ยากนะคะ เพราะเจ้าก็ยังคิดว่าหลายครั้งเรื่องพวกนี้มันดูไกลตัวจนยากที่จะเขียนออกมาให้มันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาธิปไตย เจ้าของอำนาจ การแบ่งแยกอำนาจ อำนาจในการตรวจสอบภายใน การสอบผู้พิพากษา หรือว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายหลายๆ มาตรา คือหลายเรื่องคิดหนักนะคะ ว่าจะเขียนไม่เขียน ถามตัวเองว่าเสี่ยงชีวิตไม่น้อยเลยนะถ้าเธอจะเขียนเรื่องพวกนี้น่ะ แล้วก็จบที่ว่าเขียนเถอะ เขียนไปให้เธอไม่เสียใจ เขียนไปให้มันเป็นความทรงจำว่าเธอเคยมีตัวตนแบบไหน ก็ถือว่าได้เขียนครบนะคะ
ส่วนที่ยากพอกับการเขียนเนื้อเรื่องคือเรื่องของภาษาค่ะ คือจนป่านนี้แล้วเจ้าก็ยังไม่คิดว่าภาษาตัวเองนิ่งเลยค่ะ ยิ่งกับเรื่องนี้คือแสนจะแกว่ง ชีวิตที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลักนี่ยากจังนะคะ ตลอดการเขียนนอกจากจะคิดคำได้แต่ซ้ำๆ แล้วที่เจ้าปวดหัวที่สุดคือการที่คิดเป็นภาษาอังกฤษออกแต่คิดไทยไม่ออกค่ะ (ฮา) ต้องเอาไปแปลในดิกก่อน แล้วบางคำมันเป็นภาษาวิชาการด้วย ไม่อยากจะพลาดก็เลยเนี่ยแหละค่ะ ถูกดองมาอย่างยาวนานก็อย่างนี้
เรื่องนี้ทุกคนจะเหมือนกันตรงที่เป็นสีเทาค่ะ ไม่มีใครที่ขาว และไม่มีใครที่ดำ (ยิ้ม) เจ้าไม่ได้บอกที่พวกเขาทำมันถูก จริงๆ คือมันก็ผิดล่ะ แต่มันก็เป็นอย่างนั้นจริงที่ความผิดมันถูกฝังกลบด้วยเหตุผลอะไรหลายอย่าง ความกลัว ความเกรง ความรัก เยอะค่ะ เจ้าก็คิดหนักนะคะที่ให้น้องตุลเลือกทางนั้น เพราะว่ามันเป็นความผิดที่คนที่เรียนโดยตรงมาน่าจะรู้ดีที่สุด ก็อย่างนั้นแหละค่ะ โลกเรามันก็อย่างนี้ ซึ่งถ้ามันช่วยสร้างความกล้าที่จะป่าวประกาศว่ามันผิดได้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีค่ะ
เจ้าชอบสภาวะ dilemma ในเรื่องนี้มากๆ เลยนะคะ รวมถึงความ contradiction ด้วย คือเขียนแล้วรู้สึกเลยว่าเนี่ยแหละความย้อนแย้งที่ฉันเจอมา
ก็จะประมาณนี้แหละค่ะ จะทำให้ดิ่งไหมนะคะ ปกติแล้วเวลาเจ้าเขียนเจ้าจะวางเส้นเรื่องเอาไว้ก่อนจนจบ ไม่ว่าจะพิชแบล็คหรือว่าหลอกลวงรักคือเจ้าไม่เข้าไปเปลี่ยนตอนจบเลยนะคะ แต่กับเรื่องนี้คือประหลาดมาก เพราะเจ้าลังเลกับการเขียนตอนจบมาตั้งแต่เริ่มแต่งตอนแรกจนถึงตอนยี่สิบเลย เจ้ารู้สึกว่าตัวเองก็ยังคงอยู่ในระหว่างการเรียนรู้จนไม่สามารถที่จะตัดสินใจในเรื่องของอนาคตได้ค่ะ เจ้าเลยจบแบบนี้ แบบที่น้องตุลก็ยังคงเลือกเดินตามในเส้นทางเดียวกับสัทธา หากว่าหลังจากนั้นแล้วจะเป็นแบบไหนเจ้าก็ยังมองไม่ออกเลย เหมือนกับว่าต่อให้ปากเจ้าบอกว่าเจ้าไม่เชื่อในเรื่องระบบพวกนี้ ไม่เชื่อในเรื่องความยุติธรรม แต่ลึกๆ แล้วข้างในของเจ้าก็ยังเป็นอย่างนั้นมั้งคะ ยังคงหวังเอาไว้ว่ามันอาจจะมีจริง
ในย่อหน้าเกือบสุดท้ายนี้คงเป็นแพทเทิร์นเดิม ขอบคุณทุกคนที่อยู่กับงานเขียนของเจ้ามาไม่ว่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ตรงไหน เจ้า appreciate กับทุกแรงซัพพอร์ต ทุกกำลังใจ ทุกครั้งที่เจ้าคิดว่ามันคงไปต่อไม่ไหวแล้วแต่มันก็ยังพอไปได้แหละนะ ขอบคุณที่รักพวกเขา ขอบคุณที่เป็นช่วงเวลาที่ดีเสมอนะคะ
สำหรับหลังจากจบเรื่องนี้แล้วเจ้าจะกลับไปเรียนต่อในเทอมสุดท้ายค่ะ ความทรมานทั้งหมดมันกำลังจบลงล่ะ (ฮา) ไม่ได้มองไว้ว่าในส่วนของงานเขียนมันจะมีใหม่ไหมหรือว่ายังไง ยอมรับกันตรงนี้ว่าเจ้าอยู่ในสภาวะที่ยอมแพ้กับงานเขียนแล้วค่ะ สู้ไม่ไหวล่ะ ที่ยังเขียนเรื่องนี้เพราะไม่อยากจะทิ้งไว้ ก็สร้างเขามาก็ควรจะเขียนให้จบล่ะเนอะ ข้อดีของมันคือการที่เราไม่มองเรื่องพวกนี้ก็จะยังสู้ไปได้ค่ะ เป็นความชินชาที่ก็ไม่ได้ดีกับสุขภาพจิตเท่าไหร่ (ส่วนลึกๆ ก็ยังคิดมากนะคะ แต่ว่าก็จะน้อยลงแบบที่ตัวเองรู้สึกได้แหละ) ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็โฟกัสไปทีละเรื่อง จะเขียนจะหยุดอะไรก็ค่อยๆ คิด ถ้าจะยอมแพ้ก็ตั้งใจเอาไว้แล้วว่าจะแจ้งหน้าทวิตแบบจริงจังไม่หายไปเฉยๆ แน่นอนค่ะ
ยังมีที่ติดค้างเอาไว้อยู่คือเรื่องสั้นประจำปี อันนั้นยังไงก็จะเขียนค่ะ เป็นประเพณีมานานแล้วล่ะ (ยิ้ม) แต่ว่าจะมาเมื่อไหร่นี่คือไม่รับปากนะคะ ประจำปีก็คือลงได้เมื่อไหร่ก็ได้ในปี 2020 นี่แหละ (ฮา)
ขอบคุณจากใจค่ะ
แด่ความยุติธรรมที่ฉันไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง
23August
#มิอาจก้าวล่วง