ตอนที่ 2 ยิ่งมืดยิ่งเห็นดาว
สัญชัย กิตติดนู นอกจากจะเป็นศัลยแพทย์มือดียังเป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรารักษ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในจังหวัดเล็ก ๆ ทางภาคตะวันออกที่เพิ่งปรับเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้เพียงไม่นาน แม้อายุอานามจะเลยวัยที่ต้องปลดระวางมาหลายปีแต่ด้วยความที่เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล จึงได้รับการต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่อระหว่างรอการสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมารับตำแหน่งนี้ต่อไป
นอกจากนายแพทย์สัญชัยจะมีความสามารถเป็นที่ยอมรับแล้ว การเป็นคนไม่ถือตัว จิตใจดี ซ้ำยังมีมนุษยธรรมยังทำให้เขาเป็นที่รักของทั้งผู้ใต้บังคับบัญชารวมถึงคนไข้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนั้น “คุณลุงหมอ” จึงเป็นคำคนไข้มักจะใช้เรียกเขาแทนคำว่า “อาจารย์” หรือ “ท่านผู้อำนวยการ” ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนมาจากความปรารถนาของเจ้าตัวทั้งสิ้น
ศัลยแพทย์วัยหกสิบสองปีละสายตาจากแฟ้มเอกสารทันทีที่เสียงเคาะประตูดังขึ้น และเมื่อเขาเอ่ยปากอนุญาตประตูก็ค่อย ๆ แง้มออก สัญชัยมองชายหนุ่มแปลกหน้าเจ้าของรูปร่างสูงโปร่งในชุดกางเกงขายาวสีครีมสวมเสื้อเชิ้ตสีกรมท่าที่ก้าวมาหยุดต่อหน้า เขายกมือไหว้อย่างนอบน้อมก่อนจะเริ่มแนะนำตัวเอง
“ผมชื่อประจำเมืองครับ เป็นนักศึกษาปริญญาโทสาขาดนตรีบำบัดที่โทรมาคุยกับคุณลุงหมอเมื่อประมาณกลางเดือน”
“ลูกชายปราการใช่ไหม” ผู้อาวุโสว่าพลางปิดแฟ้มเอกสาร
“ครับคุณลุง คุณลุงเรียกผมว่าเมืองก็ได้ครับ”
เมื่อได้ฟังดังนั้นนายแพทย์สัญชัยก็ผายมือพร้อมกับกล่าวเชื้อเชิญคนมาให้ให้นั่ง ในขณะที่ประจำเมืองเองก็ค้อมศีรษะขอบคุณ จัดการปลดเป้แล้วเลื่อนเก้าอี้ก่อนจะนั่งลง
“เคยเจอตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ไม่คิดว่าโตขึ้นมาแล้วจะหล่อเหลาขนาดนี้”
“คงสู้คุณลุงไม่ได้หรอกครับ พ่อเล่าว่าสมัยหนุ่ม ๆ คุณลุงเป็นดาวเด่นของคณะ” พูดจบดึงหนังสือปกแข็งเล่มหนึ่งออกมาจากกระเป๋า “นี่หนังสือที่ระลึกครบรอบเก้าสิบปีของมหาวิทยาลัยครับ พ่อฝากมาให้คุณลุงด้วย”
“ฝากขอบใจพ่อของเธอด้วยนะหลานชาย” นายแพทย์วัยหกสิบสองปีกล่าวพลางรับหนังสือเล่มนั้นมาวางตรงหน้า มือที่เต็มไปด้วยริ้วรอยหากแต่เคยช่วยชีวิตคนมาแล้วนักต่อนักลูบไล้ไปบนตัวอักษรพิมพ์นูน “กลิ่นแก้วรำลึก” ก่อนจะพลิกดูด้านในที่อัดแน่นด้วยเรื่องราวในอดีต
“เห็นแล้วก็นึกถึงสมัยก่อน คนแก่ก็อย่างนี้แหละ ชอบนึกถึงแต่ความหลัง” เจ้าของใบหน้าแต้มยิ้มกล่าวทั้งที่ดวงตายังคงจดจ้องอยู่กับภาพถ่ายขาวดำในหน้ากระดาษอาร์ตมัน “พ่อเธอเป็นไหม”
“เรียกว่าบ่อยเลยละครับคุณลุง”
“เจอกันทีไรก็คุยกันถึงเรื่องเก่า ๆ ชวนดูกันแต่รูปเก่า ๆ เป็นพวกไม่มีอนาคตให้นึกถึง” คนพูดหัวเราะในลำคอขณะปิดหนังสือที่เป็นเหมือนบันทึกความทรงจำแต่หนหลังลง “เอ้อ...เข้าเรื่องเลยดีกว่านะ เดี๋ยวจะเสียเวลาของเธอ”
“ไม่หรอกครับคุณลุง วันนี้นี้ผมตั้งใจมาคุยกับคุณลุงโดยเฉพาะ ไม่ได้รีบไปไหน”
“ถ้าอย่างนั้นก็เริ่มกันเลยดีกว่า เราอยากจะให้ลุงช่วยอะไรก็ว่ามาได้เลย”
“ตามที่ผมเรียนให้ทราบทางโทรศัพท์นั่นแหละครับ ผมอยากจะขออนุญาตเข้ามาเก็บข้อมูลสำหรับการทำวิจัยในโรงพยาบาลของคุณลุง ส่วนนี่คือรายละเอียด หัวข้อวิจัยของผมคือการศึกษาผลของดนตรีบำบัดที่มีต่อความวิตกกังวลและความเจ็บปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็งครับ”
นายแพทย์สัญชัยพยักหน้าพลางกวาดตาดูรายละเอียดคร่าว ๆ “วางแผนเอาไว้ว่าจะเริ่มเมื่อไรล่ะ”
“ถ้าคุณลุงอนุญาต ผมก็อยากจะเริ่มให้เร็วที่สุดครับ”
“ได้สิ”
“ถ้าอย่างนั้นในช่วงเดือนแรกผมจะขอพาเพื่อน ๆ เข้ามาทำการเก็บข้อมูลทั่วไปรวมถึงความต้องการของผู้ป่วยก่อนนะครับ จากนั้นก็จะเอาข้อมูลที่ได้กลับไปวิเคราะห์เพื่อดำเนินการต่อ”
“ไม่มีปัญหาหรอก แต่ช่วงนี้ลุงอาจจะยุ่ง ๆ หน่อย เพราะโรงพยาบาลมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในองค์กร มีการยุบรวมแล้วก็มีการเกิดขึ้นใหม่ของงานย่อย ๆ ที่เห็นชัดก็คงจะเป็นฝ่ายที่รับหน้าที่ดูแลเรื่องสารสนเทศของโรงพยาบาลแทนการจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากข้างนอกเหมือนที่แล้วมา นี่ก็เพิ่งได้เงินบริจาคสำหรับโครงการใหม่น่ะ จะว่าไปมันก็น่าจะเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะทำนะ”
“โครงการอะไรหรือครับคุณลุง”
“โครงการจัดตั้งสถานีวิทยุน่ะ คนบริจาคเขาแสดงความต้องการมาเลยว่าอยากให้ทำสถานีวิทยุออนไลน์เพื่อให้ความรู้กับคนทั่วไป เพราะตอนนี้ทั้งสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเป็นอุปกรณ์ที่มีติดตัวกันแทบทุกคน เสียดายที่ตอนนี้อะไร ๆ ยังไม่ลงตัว ไม่อย่างนั้นลุงจะพาไปดู”
“ดีจังเลยนะครับคุณลุง ผมเองก็คงต้องเทียวไปเทียวมาที่นี่ไปอีกนาน ต้องมีโอกาสได้ไปแน่ ๆ ครับ”
“เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ลุงจะหาใครสักคนมาเป็นพี่เลี้ยงให้ มีอะไรจะได้ปรึกษาเขาได้”
“ได้ครับคุณลุง” ประจำเมืองยิ้มน้อย ๆ มองชายวัยกลางคนที่ยกนาฬิกาข้อมือขึ้นดูเวลา
“ขอโทษทีนะ ว่าจะชวนดื่มกาแฟด้วยกันสักหน่อย เพิ่งนึกได้ว่ามีประชุมที่ศาลากลางจังหวัด”
“ไม่เป็นไรครับคุณลุง ถ้าอย่างนั้นผมขอตัวลากลับเลยก็แล้วกันนะครับ คุณลุงจะได้มีเวลาเตรียมตัว”
ลูกชายสูตินรีแพทย์เดินออกจากห้องพักผู้อำนวยการโรงพยาบาลก่อนจะกดลิฟต์ลงมาที่ชั้นล่างซึ่งเป็นส่วนของงานเวชระเบียน ชายหนุ่มเดินออกประตูด้านข้างตั้งใจจะไปยังลานจอดรถ หากแต่เสียงไวโอลีนที่กำลังบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์กลับทำให้เขาต้องเปลี่ยนใจเดินอ้อมไปที่หน้าอาคารโบราณสองชั้นสีขาวหม่นซึ่งน่าจะสร้างขึ้นตามแนวคิดศิลปะแบบตะวันตก สังเกตได้จากระเบียงที่ทำเป็นซุ้มโค้งรับน้ำหนักของหลังคายาวตลอดแนวปีกซ้ายและขวา เมื่อเงยหน้าขึ้นมองเหนือกรอบประตูทางเข้าบริเวณหน้ามุขที่ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นก็เห็นตัวอักษรสลักเป็นร่องลึกว่า "ฤดีบรรเทา" ซึ่งเป็นชื่อของอาคาร และเมื่อก้าวเข้าไปด้านในก็พบผู้คนจำนวนมากกำลังนั่งรอเรียกตรวจอยู่ภายในห้องโถงซึ่งเป็นที่ตั้งของแผนกอายุรกรรม และแผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน
คันชักที่ทำจากหางม้ายังคงเสียดสีกับสายสังเคราะห์ทำให้เกิดท่วงทำนองหวานแหลมแต่ในเวลาเดียวกันกลับให้รู้สึกเศร้าจับใจยิ่งนัก ประจำเมืองกวาดตามองไปรอบ ๆ กระทั่งหยุดที่ร่างท้วมผมสีดอกเลาเจ้าของไวโอลินที่เป็นต้นกำเนิดเสียงซึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้แถวสุดท้าย ชายหนุ่มสืบเท้าเข้าไปใกล้ก่อนจะนั่งลงโดยเว้นที่ว่างเอาไว้เพื่อให้เกิดระยะห่าง ยังคงมองอีกฝ่ายอย่างสนอกสนใจ และเมื่อจบเพลงชายชราวัยแปดสิบสี่ก็หันมาส่งยิ้มน้อย ๆ ก่อนจะเอ่ยขึ้น
“ชอบฟังเพลงรึหนุ่ม”
“ครับคุณตา แต่เพลงที่คุณตาเล่นเมื่อกี้ฟังดูเศร้าจังเลยนะครับ”
“รู้จักด้วยเหรอ” มือเหี่ยวย่นวางไวโอลินลงบนหน้าตักก่อนจะหันมาคุยอย่างจริงจัง
“รู้จักสิครับ เพลงพระราชนิพนธ์อาทิตย์อับแสง”
“ไม่น่าเชื่อว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้จะรู้จักเพลงพระราชนิพนธ์ด้วย”
“ผมเรียนดนตรีน่ะครับ ก็เลยพอจะได้ศึกษาเรื่องนี้อยู่บ้าง”
“ลองเล่นดูสักเพลงไหมล่ะ ผมเองก็เล่นอยู่ไม่กี่เพลงซ้ำไปซ้ำมา คนที่นี่เขาคงพากันเยื่อแล้วมั้ง”
“คุณตามาเล่นดนตรีที่นี่ทุกวันเหรอครับ”
“เปล่าหรอก ผมมาเฉพาะวันที่หมอนัดน่ะ เดือนละครั้งสองครั้งตามแต่หมออยากจะเจอ” ทำพูดติดตลกในขณะที่มือก็ส่งไวโอลินตัวเก่งให้
“จะดีเหรอครับ”
“ดีสิ นาน ๆ ได้ฟังฝีมือคนหนุ่มบ้าง”
“ครับ” ประจำเมืองยิ้มพร้อมกับขยับเข้ามาใกล้ รับเครื่องดนตรีจากมือชายชราก่อนจะแนบส่วนที่เป็นที่รองคางลงกับสันกราม
“คุณตาเล่นเพลงอาทิตย์อับแสงไปแล้ว ถ้าอย่างนั้นผมจะเล่นเพลงนี้ก็แล้วกันนะครับ เพราะว่าวันนี้ถึงดวงอาทิตย์จะหมดแสงแล้ว พรุ่งนี้ก็ต้องกลับมาเจอกันใหม่แน่นอน” พูดจบชายหนุ่มก็วางคันชักลงบนเส้นสังเคราะห์แล้วลากยาวจนเกิดเป็นทำนองหวานหูฟังดูมีจังหวะกว่าเพลงที่คุณตาเพิ่งเล่นจบลงไป
ปลายนิ้วที่กำลังสัมผัสกับแป้นพิมพ์ต้องชะงักเมื่อหูได้ยินเสียงไวโอลินบรรเลงเพลงที่มีท่วงทำนองผิดแผกไปจากที่เคยได้ฟัง ขวัญนพจำได้แม่นว่าทุก ๆ เดือนหรืออาจจะน้อยกว่านั้น เขาจะต้องได้ยินเสียงไวโอลินดังมาจากชั้นล่างของตึก ซึ่งผู้ที่นำเครื่องดนตรีมาบรรเลงระหว่างรอตรวจก็คือคุณตาสุธีอดีตไต้ก๋งเรือประมงที่เพิ่งสูญเสียภรรยาอันเป็นที่รักไปเมื่อต้นปีก่อนด้วยโรคชรา หลังการจากไปของคู่ชีวิตคุณตาสุธีเองก็มีอันต้องล้มหมอนนอนเสื่อเพราะภาวะน้ำตาลในเลือดสูงรวมถึงมีอาการของโรคกระดูกเสื่อมทำให้ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจติดตามอาการตามคำสั่งของแพทย์
เสียงเคาะประตูเรียกสติของนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมประสาทที่กำลังลอยไปไกลให้กลับคืนมาอีกครั้ง มือหนายกขึ้นขยับแว่นสายตามองประตูที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ค่อย ๆ ถูกเลื่อนออกก่อนที่พยาบาลสาวจะเข็นรถเข็นพาเด็กชายรูปร่าจ้ำม่ำเข้ามา
“สวัสดีครับอาหมอ” หนุ่มน้อยวัยเก้าปีกล่าวเสียงใส ไม่ว่ารอยยิ้ม พวงแก้มน่าหยิกหรือแม้แต่สภาพทั่วไปของร่างกาย ไม่มีสิ่งใดเลยที่บ่งบอกว่าเขากำลังป่วยนอกเสียจากชุดที่เขาสวม
“พาตัวป่วนมาหาคุณหมอค่ะ” หญิงสาวกล่าวขณะล็อกล้อรถเข็น
“ขอบคุณนะครับพี่ผึ้ง”
“ไม่เป็นไรจ้ะหนุ่มน้อย” เธอว่าพลางหันไปหาคุณหมอเจ้าไข้ของเด็กชาย “ถ้าน้องจะกลับแล้วเรียกผึ้งนะคะคุณหมอ”
“ขอบคุณนะครับ” รอกระทั่งอีกฝ่ายเดินออกไปจึงเอ่ยขึ้นกับเด็กชาย “ไงปูไข่ ทำไมวันนี้มาถึงห้องอาได้”
“เมื่อเช้าปูไข่มาตรวจวัดสายตากับคุณหมอฟ้าใสครับ ก็เลยขอพี่พยาบาลแวะหาอาหมอก่อนกลับ”
“แล้วคุณหมอฟ้าใสให้ทำอะไรบ้าง”
“คุณหมอฉีดยา ให้ปูไข่นอนนิ่ง ๆ แล้วพาเข้าไปเที่ยวในอุโมงค์ฮะ”
“แล้วปูไข่กลัวหรือเปล่า”
“ไม่กลัวครับอาหมอ คุณหมอฟ้าใสบอกว่าเป็นอุโมงค์ง่วงนอน เข้าไปปั๊บก็หลับปุ๊บเลย พอตื่นมาอีกทีปูไข่ก็ไปนอนเล่นอยู่บนเตียงแล้ว คุณหมอฟ้าใสบอกว่าสายตาน่าจะสั้นลงก็เลยเห็นภาพมัว ๆ แล้วก็ปวดหัวบ่อย ๆ แต่ไม่ยักจะสั่งตัดแว่นให้ปูไข่ ปูไข่ก็เลยอดใส่แว่นเลย”
เจ้าของห้องพยักหน้า เขารู้ดีว่ามันไม่ใช่การตรวจวัดสายตาแบบที่เด็กชายกล่าว หากแต่เป็นการทำกระนั้นก็ยังฝืนยิ้มก่อนจะดึงเก้าอี้มานั่งตรงหน้าหนูน้อย ยกมือขึ้นโยกศีรษะของอีกฝ่ายเบา ๆ “ตัวแค่นี้จะอยากสวมแว่นไปทำไมกัน”
“ก็ปูไข่อยากเท่แบบอาหมอนพนี่ฮะ” พูดจบเด็กชายก็ฉีกยิ้มกว้าง ดวงตาทอประกายมองชายหนุ่มวัยย่างสามสิบห้าปีเจ้าของผมสีเข้มตัดรองทรงสูงไม่ได้จัดทรงจนส่วนหน้าตกลงมาระกับกรอบแว่นตาสีดำหนาเตอะ เขากำลังโคลงศีรษะน้อย ๆ
“อยากกลับห้องหรือยัง อาพาไปส่ง”
“ปูไข่อยากฟังคุณตาสุธีสีไวโอลินก่อน วันนี้คุณตาคงอารมณ์ดีเลยเล่นเพลงเพราะ”
“แล้วทุกครั้งล่ะ ไม่เพราะเหรอ” ถามเพียงเพราะคิดว่าเพลงก็เหมือนกันทุกเพลงแค่จังหวะแตกต่างกันก็เท่านั้นเอง
เด็กชายส่ายหน้าเบา ๆ “เพราะครับ แต่ทุกครั้งเศร้ากว่านี้ ปูไข่ไม่ชอบเพลงเศร้า”
ขวัญนพพยักหน้าส่ง ๆ แม้จะไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไร แต่ก็อดนึกถึงคำที่คุณครูเคยพูดในชั่วโมงดนตรีเมื่อสมัยที่เขายังเป็นนักเรียนชั้นประถมไม่ได้
...ท่วงทำนองของดนตรีสามารถสะท้อนสภาพจิตใจของผู้บรรเลงในขณะนั้น ไม่ว่าจะทุกข์ สุข หรือเศร้าก็ส่งผ่านไปถึงผู้ฟังได้... “ขอบคุณคุณตามากนะครับที่ให้ผมยืมเล่น” ประจำเมืองกล่าวขณะส่งไวโอลินคืนเจ้าของ “ไวโอลินของคุณตาทำให้ผมนึกอยากจะค้นเอาไวโอลินตัวแรกที่พ่อกับแม่ซื้อให้ออกมาปัดฝุ่น นานแล้วที่ไม่ได้สีไวโอลิน เหมือนได้เคาะสนิมเลยครับ”
“นี่ไม่ได้สีไวโอลินประจำหรอกรึ” ชายชรากล่าวพลางรับเครื่องดนตรีคืน
“เครื่องดนตรีเอกของผมคือเปียโนน่ะครับ”
“ขนาดไม่ได้เล่นนานฝีมือยังไม่เบาเลยนะพ่อหนุ่ม เอาไว้ว่าง ๆ ถือติดมือมาสิ คนที่นี่เขาจะได้ฟังเพลงใหม่ ๆ”
“ได้ครับ ถ้าคุณตาชอบ คราวหน้าผมจะเอาโน้ตเพลงเพราะ ๆ ติดมาด้วย คุณตาจะได้เอาไว้เล่นให้คนอื่น ๆ ฟัง”
ประจำเมืองกล่าวทิ้งท้ายก่อนจะกล่าวอำลาคุณตาสุธี ถ้าหากเขายังคงนั่งอยู่ตรงนั้นนานกว่านี้อีกสักหน่อยก็คงได้มีโอกาสพบกับสองคู่หูต่างวัยที่กำลังจูงมือกันเดินลงมาจากบันไดไม้สักที่ทอดเวียนลงมาจากชั้นสองของตึกเพื่อจะมาฟังเพลงที่เขาเล่น
....
สองสัปดาห์ต่อมานักศึกษาหนุ่มกลับมาที่โรงพยาบาลสมุทรารักษ์อีกครั้งพร้อมกับเพื่อน ๆ พวกเขาถูกนายแพทย์สัญชัยพาไปแนะนำให้รู้จักกับบุคลากรที่ดูแลเกี่ยวกับสารสนเทศและวิทยุออนไลน์ของโรงพยาบาล ประจำเมืองและเพื่อน ๆ จึงได้ขออนุญาตนายแพทย์สัญชัยในการเข้ามาช่วยงานของสถานีวิทยุระหว่างการเก็บข้อมูลเพื่อทำการวิจัย ในที่สุดสถานีวิทยุออนไลน์ของโรงพยาบาลสมุทรารักษ์ก็เริ่มขึ้น...
“สวัสดีตอนเช้าในวันที่อากาศแจ่มใสคลื่นลมสงบนะครับ ผม...ดีเจปาล์มครับ วันนี้เป็นวันที่สองแล้วสำหรับการดำเนินงานของสถานีวิทยุออนไลน์โรงพยาบาลสมุทรารักษ์ ยังไงก็ต้องขอฝากเนื้อฝากตัวกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ ชาวโรงพยาบาลสมุทรารักษ์ทุกคนด้วยนะครับ หากต้องการขอเพลงก็สามารถขอได้ที่เบอร์โทรศัพท์ภายในหรือหย่อนจดหมายน้อย ๆ ลงในมิวสิคบ็อกซ์ที่เราตั้งไว้ที่ร้านกาแฟของโรงพยาบาลก็ได้นะครับ และสำหรับเพลงแรกในวันนี้ คุณวิทย์แผนกฉุกเฉินมอบให้คุณก้อยการเงิน ไปฟังกันเลยครับ”
เสียงฉะฉานดีเจหนุ่มค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยจังหวะเพลงสนุก ๆ ที่มีเนื้อหาในเชิงบอกรัก ทำเอาบรรดาพยาบาลสาว ๆ ที่จับกลุ่มยืนรอซื้อกาแฟต่างก็พากันหัวเราะคิกคัก
นายแพทย์ขวัญนพวางถ้วยกาแฟร้อนลงบนโต๊ะพลางมองไปยังกลุ่มของสาว ๆ แล้วหันกลับมาพูดกับคนที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ในฝั่งตรงข้าม “เกิดอะไรขึ้นน่ะพี่”
กันตภณรวบหนังสือพิมพ์เก็บ ยกถ้วยกาแฟขึ้นจิบอย่างสบายอารมณ์ก่อนจะตอบคำถาม “สถานีวิทยุของโรงพยาบาลน่ะ เพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อวาน”
“ผมเเพิ่งรู้ว่าโรงพยาบาลของเรามีอะไรแบบนี้ด้วย”
“วัน ๆ สนใจอะไรบ้างนอกจากคนไข้กับหนังสือกองมหึมา" นายแพทย์กันตภณกล่าวอย่างไม่จริงจังนัก "เห็นอาจารย์สัญชัยบอกว่าได้เงินบริจาคจากนักการเมืองท้องถิ่น เขาขอให้โรงพยาบาลดำเนินงานเกี่ยวกับสถานีวิทยุเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารความรู้ที่เกี่ยวกกับสุขภาพน่ะ พอดีมีนักศึกษาปริญญาโทเขามาขอทำวิจัยเกี่ยวเรื่องดนตรีบำบัดด้วย อาจารย์ท่านเห็นว่ามีประโยชน์กับทั้งตัวนักศึกษาและผู้ป่วยในระยะนี้ก็เลยให้เขาเข้ามาช่วยงานสถานีน่ะ”
“ก็ดีเหมือนกันนะพี่” ขวัญนพกล่าวพลางทอดตามองกล่องซึ่งห่อด้วยกระดาษลายสวยที่ตั้งอยู่หน้าเคาท์เตอร์ มีข้อความตัวโตที่พิมพ์บนกระดาษเอสี่แปะไว้ “มิวสิคบ็อกซ์ เพียงคุณบอก...เราจัดให้” ส่วนด้านล่างมีรายละเอียดและวัตถุประสงค์เกี่ยวการดำเนินงานของสถานีวิทยุออนไลน์ของโรงพยาบาล
“นายว่าดีเหรอ”
“ครับ ทำไมล่ะ”
“ก็ปกติฉันไม่เห็นนายจะมีอารมณ์สุนทรีย์กับใครเขา ตรวจคนไข้เสร็จก็เอาแต่ขลุกอยู่ในห้องหนังสือ”
ขวัญนพยอมรับในสิ่งที่กันตภณพูดมาทั้งหมด “ผมหมายถึงอย่างน้อยก็ดีสำหรับคนไข้ไงพี่”
“แต่ก็ยังไม่รู้สึกว่ามันจะดีกับตัวนายเองเหมือนเคย” แพทย์รุ่นพี่หัวเราะในลำคอก่อนจะยกกาแฟขึ้นจิบ ทิ้งให้คนที่ในหัวมีแต่คำว่าหน้าที่นั่งนิ่งคิดทบทวนในคำพูดเมื่อสักครู่
หลังจากใช้เวลาเกือบทั้งวันในการเก็บข้อมูลก็ถึงเวลาที่เหล่าดีเจมือใหม่จะต้องกลับมาปิดสถานีตามที่ได้รับอาสากับหัวหน้างานสารสนเทศของโรงพยาบาลเอาไว้ แต่แทนที่ตอนนี้พวกเขาจะไปอยู่กันที่ห้องวิทยุออนไลน์ซึ่งอยู่ชั้นห้ากลับต้องแวะชั้นที่สามเพื่อรับกุญแจจากเจ้าหน้าที่ ยิ่งตกกลางคืนบรรยากาศของชั้นนี้ยิ่งเงียบสงัดกันเข้าไปใหญ่ เพราะทั้งชั้นถูกจัดให้เป็นพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลระบบเครือข่าย ต่างคนต่างมองผ่านไอน้ำที่เกาะประตูกระจกเข้าไปในห้องเครื่องแม่ข่าย เห็นเงาตะคุ่มของใครคนหนึ่ง พลันฝ่ามือใหญ่ก็ทาบลงมาบนระนาบขุ่นปาดฝ้าไอน้ำออกก่อนจะมองลอดช่องออกมา เล่นเอาหัวใจของทั้งสี่คนแทบจะตกลงไปอยู่ที่ตาตุ่ม
“ขอโทษที พอดีพี่นั่งย้ายข้อมูลในเครื่องเซิร์ฟเวอร์เพลิน ลืมไปเลยว่านัดพวกเราไว้” ชายหนุ่มร่างสูงใหญ่กล่าวเมื่อสแกนนิ้วเปิดประตูออกมาพร้อมกับยื่นกุญแจให้ “เอ้านี่ กุญแจ ฝากปิดห้องด้วยนะ”
“ครับพี่ แล้วกุญแจนี่จะให้ผมเอาไว้ที่ไหนครับ” คนอายุมากที่สุดในกลุ่มเอ่ยขึ้นขณะรับกุญแจมาถือไว้
ริมฝีปากสีคล้ำเพราะเกิดจากการสูบบุหรี่จัดสแยะยิ้มมีเลศนัยก่อนจะตอบด้วยน้ำเสียงเย็นเยือกพอ ๆ กับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศภายในห้องที่เขาเพิ่งเดินออกมา “ถ้าไม่อยากแวะมาอีกก็ลงฝากไว้กับพนักงานรักษาความปลอกดภัยข้างล่างก็ได้ เดี๋ยวตอนกลับพี่จะแวะไปเอาที่เขา”
“ได้ครับพี่”
เมื่อได้ของที่ต้องการแล้ว ทั้งสี่คนก็พากันเดินไปที่ลิฟต์ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของอาคาร
“บรรยกาศบนนี้มันวังเวงพิลึกว่ะ ห้องพวกพี่ ๆ เจ้าหน้าที่เน็ตเวิร์คอยู่ไกลเหลือเกิน” คนหนึ่งเอ่ยขึ้น
“แกจะบ่นอะไรนักหนาวะไอ้ก้อง” คนถือกุญแจกล่าว
“ก็มันจริงนี่พี่ ถ้าไฟติด ๆ ดับ ๆ หน่อยนะ เป๊ะเลย ฉากในหนังสยองขวัญชัด ๆ”
“พูดแบบนี้แสดงว่าอยากเจอ”
“จ...เจออะไรวะพี่”
“ผีไง กุ๊ก ๆ กู๋ก็ได้ จะได้ดูน่ารัก”
“น่ารักอะไรวะพี่ ผมยิ่งกลัว ๆ อยู่” ว่าแล้วก็ยกมือขึ้นลูบขนแขนที่จู่ ๆ ก็ตั้งชันขึ้นมาอย่างไร้สาเหตุ
“ตึกนี้เขาเพิ่งสร้างเสร็จจะมีผีได้ยังวะ แกคิดเป็นตุเป็นตะ”
“ใครว่าล่ะพี่ ตึกนี้แหละเฮี้ยนสุด เมื่อกลางวันพี่คนเมื่อกี้ยังเล่าให้ผม ไอ้ปาล์ม ไอ้เมือง ฟังอยู่เลยว่าตึกนี้น่ะสร้างทับตึกเก่าของโรงพยาบาลที่เขาว่ากันว่า...”
“พอ ๆ ไอ้ก้อง ฉันไม่ได้อยากรู้” แม้จะเป็นคนที่ไม่เชื่อในเรื่องที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แต่โอก็เลือกที่จะไม่รู้ข้อมูลเสียดีกว่า ชายหนุ่มมองตามเสียงฝีเท้าที่กำลังใกล้เข้ามา ที่แท้ก็เป็นประจำเมืองที่แยกไปห้องน้ำเมื่อหลายนาทีก่อนนั่นเอง
“ไอ้ปาล์มกดลิฟท์” คนที่กำลังกึ่งวิ่งกึ่งเดินเข้ามาสมทบกับอีกสามคนที่ยืนรออยู่เอ่ยขึ้น ดังนั้นเจ้าของชื่อที่ยืนเงียบมานานจึงเอื้อมมือกดปุ่ม รอกระทั่งประตูเปิด ทั้งสี่คนจึงพากันก้าวเข้าไปในกล่องสี่เหลี่ยมสำหรับขนส่งระหว่างชั้นต่าง ๆ ภายในอาคาร
ต่างคนต่างจ้องมองประตูเหล็กที่เลื่อนเข้าหากันจนปิดสนิท ภายในกล่องสี่เหลี่ยมเงียบสนิทจนได้ยินเพียงเสียงของเข็มวินาทีจากนาฬิกาที่แต่ละคนสวมติดข้อมือเท่านั้น และเมื่อผ่านไปครู่หนึ่งประตูลิฟต์ก็เปิดออก ทั้งสี่คนก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบว่าพวกเขายังคงอยู่ที่ชั้นเดิม
“ฮือ...” เสียงครางเบา ๆ พาให้คนอื่น ๆ มองหน้ากันเลิกลั่ก
“ไอ้ก้อง แกจะครางทำไมวะ” โอซึ่งยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่งกล่าวก่อนจะเดินเข้ามายืนใกล้ ๆ เพื่อนรุ่นน้อง ซึ่งในระหว่างนั้นใครคนหนึ่งก็กดปุ่มให้ประตูลิฟต์ก็ปิดลง...
แต่เมื่อประตูเปิดออกอีกครั้ง ภาพที่เห็นตรงหน้าก็ทำเอาทุกคนอุทานขึ้นพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย
“เฮ้ย...ทำไมมันไม่ไปไหนเลยวะ” สิ้นเสียงของปาล์ม ทั้งหมดก็พากันขยับเข้ามากระจุกกันที่ด้านหนึ่ง
“น...นั่นไง จริง ๆ ด้วย” ก้องกล่าวเสียงสั่นก่อนจะเหลือกตามองเพดาน “ต...ตึกนี้ ฮ...เฮี้ยนสุดนะจริง ๆ ด้วย”
“จะพูดทำไมวะ” โอที่ไม่เคยกลัวอะไรชักเริ่มใจคอไม่ดี
และแล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อปาล์มซึ่งยืนอยู่ใกล้ฝั่งที่มีปุ่มกดต้องสะดุ้งเฮือกเมื่อรู้สึกถึงแรงกระแทกที่ท้ายทอย เขายกมือขึ้นลูบศีรษะตัวเองก่อนจะหันกลับไปมองเพื่อน ๆ ซึ่งกำลังอยู่ในอาการหวาดกลัวไม่ต่างกัน ทุกคนต่างพากันมองสำรวจไปรอบ ๆ ชายหนุ่มตัวเล็กที่สุดในกลุ่มจึงได้แต่ก้มหน้าพร้อมกับหลับตาลงและเริ่มสวดมนต์เบา ๆ แต่กระนั้นบางสิ่งก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะรามือ
ปาล์มสะดุ้งโหยงก่อนจะกระซิบลอดไรฟันทั้งที่ยังหลับตาปี๋ “ค...โครตบหัวผม ฮือ...พ่อจ๋าแม่จ๋า...ช่วยปาล์มด้วย” สิ้นเสียงชายหนุ่มอาการเดิมก็เกิดขึ้นซ้ำ
“ฉันตบแกเองไอ้ปาล์ม แกไม่กดเลือกชั้นแล้วลิฟต์มันจะขึ้นให้แกไหมวะ” ประจำเมืองกล่าวอย่างหัวเสีย ในขณะที่อีกสามคนได้แต่ร้องอ้าวพร้อมกัน สุดท้ายก็เป็นปาล์มที่ต้องยอมตกเป็นเป้านิ่งให้เพื่อน ๆ รุมประชาทัณฑ์
“ใครจะไปรู้วะ บรรยากาศมันก็ชวนสยอง แถมไอ้ก้องก็บิ๊วต์จนขี้จะขึ้นไปอยู่บนสมองอยู่แล้ว” ชายหนุ่มบ่นอุบขณะเอื้อมมือกดปุ่ม และเมื่อลิฟต์ถึงที่หมายเรื่องลี้ลับประจำค่ำคืนนี้ก็ปิดฉากลง...
ห้องพักบนอาคารที่พักบุคลากรของโรงพยาบาล นายแพทย์ขวัญนพที่เพิ่งออกจากห้องน้ำเดินตรงไปยังระเบียงก่อนจะจัดการตากผ้าเช็ดตัวกับราวที่ซื้อมาประกอบเอง ชายหนุ่มกลับเข้ามาในห้องสี่เหลี่ยมซึ่งเป็นราวกับอาณาจักรอันเป็นส่วนตัวของตนเองอีกครั้ง ร่างสูงทิ้งตัวลงนั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือ คว้าแว่นตามาสวมแล้วเปิดตำราเล่มหนาที่อ่านค้างไว้เมื่อคืนก่อนออกอ่าน แม้สายลมเย็นจะพยายามพัดผ่านมากวักมือเรียกแต่ก็ไม่อาจฉุดให้เขาออกไปยืนรับลมชมทิวทัศน์ยามค่ำคืนเหมือนกับที่หลาย ๆ คนทำเพื่อให้ผ่อนคลายจากความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวันได้
คิ้วหนาเรียงเส้นเผลอเคลื่อนเข้าหากันเมื่อพบว่านอกจากสายลมยามค่ำคืนจะพัดเอากลิ่นไอทะเลมารบกวนจมูกแล้วยังหอบเอาเสียงของใครคนหนึ่งมาทักทายกันด้วย ชายหนุ่มละสายตาจากตัวอักษรที่เรียงกันแน่นจนเต็มหน้ากระดาษแล้วลุกขึ้นก่อนจะเดินไปหยุดที่ระเบียงเงี่ยหูฟังเสียงที่ดังมาจากห้องข้าง ๆ ที่แท้ก็เป็นเสียงของนักจัดรายการมือใหม่ประจำสถานนีวิทยุออนไลน์ของโรงพยาบาลนั่นเอง
“...หลายคนมีความกลัวซ่อนอยู่ภายในใจ บางคนกลัวการเริ่มต้นใหม่ บางคนกลัวความสูง ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ แต่หากลองคิดทบทวนให้สักหน่อย เราอาจจะเห็นความสวยงามอยู่ในสิ่งที่เรากลัวก็ได้นะครับ การเริ่มต้นใหม่จะไม่ใช่สิ่งน่ากลัวอีกต่อไปหากคุณลองก้าวข้ามความกลัวของตัวเองออกไปพบสิ่งใหม่ ๆ ลองยิ้มให้ใครสักคน หรือถ้าคุณกลัวความสูง ลองสลัดความกลัวแล้วมองไปข้างหน้า บางทีคุณจะได้เห็นภาพทิวทัศน์ที่แปลกตากว่าการมองลงไปที่ปลายเท้าของตัวเองก็ได้ แล้วถ้าคุณกลัวความมืด...ผมก็แค่อยากจะบอกว่า...คืนนี้ดาวสวยนะครับ”
จบประโยคนั้น คุณหมอหนุ่มผู้ไม่เคยเห็นเห็นความงดงามในสิ่งรอบตัวก็เงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้าอย่างไม่รู้ตัว ในหัวเกิดคำถามว่านานเท่าไรแล้วที่ไม่ได้เห็นดวงดาวมากมายเช่นนี้...
“ยิ่งมืดเท่าไร เราก็จะยิ่งเห็นดวงดาวชัดเจนขึ้นเท่านั้นและมันทำให้ผมนึกถึงเพลงหนึ่งมา ก่อนจะจากกันไป ผมขอส่งท่านผู้ฟังทุกท่านเข้านอนด้วยเพลงนี้ครับ พรุ่งนี้เราจะตื่นขึ้นมาอย่างสดใสรับวันใหม่ด้วยกัน ราตรีสวัสครับ”
สิ้นเสียงดีเจ เพลงเก่าเพลงหนึ่งก็แว่วมาตามสายลม...
...
ขอบคุณสำหรับการติดตามค่ะ