พอดีไปเช็กคำมาเลยไปเจอเวปนี้เข้าอ่านแล้วก็เห็นว่ามีประโยชน์ทั้งนักเขียนนักอ่าน เลยเอามาฝากกันค่ะ
เพื่อให้การจัดพิมพ์หนังสือของนักเขียนทุกท่านเผยแพร่ออกไปอย่างสมบูรณ์และถูกต้อง กองบรรณาธิการขอเสนอข้อพึงปฏิบัติในการจัดทำต้นฉบับดังนี้ค่ะ
1. ก่อนส่งต้นฉบับ ขอให้ตรวจตัวสะกดอย่างละเอียดรอบคอบ โดยยึดพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานเป็นหลัก คำผิดที่พบมีสองลักษณะ
ลักษณะแรก คือ พิมพ์ผิด เช่น ฟากฝั่ง พิมพ์เป็น ฝากฝั่ง, สมทบ พิมพ์เป็น สบทบ
ลักษณะที่สอง คือ สะกดผิด ส่วนใหญ่เป็นคำมักเขียนผิด เช่น กะพริบ (มักสะกดเป็น กระพริบ), พลิ้ว (มักสะกดเป็น พริ้ว), เลือดกบปาก (มักสะกดเป็น เลือดกลบปาก) ขอให้ศึกษาจากหนังสือ “อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายเหตุ : ดูตัวอย่างเพิ่มเติมท้ายกระทู้
นอกจากนี้ยังมีคำตกหล่น หรือคำเกิน หรือใช้คำผิดความหมาย ซึ่งพบอยู่บ่อย ๆ
2. เขียนรูปประโยคให้ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งที่ไม่สามารถกระทำอาการต่าง ๆ ได้เป็นประธาน
ตัวอย่าง
- น้ำเสียงหวานเดินเข้ามา (ควรแก้เป็น คนเสียงหวานเดินเข้ามา)
- เสียงแหบพร่าเหนื่อยอ่อนของหนุ่มใหญ่เอ่ยกับหลานชาย (ควรแก้เป็น หนุ่มใหญ่เอ่ยกับหลานชายด้วยเสียงแหบพร่า)
เสียงไม่สามารถกระทำหรือพูดได้ เพราะเสียงไม่ใช่สิ่งมีชีวิต
3. ไม่ควรใช้คำเยิ่นเย้อ เช่น “เขารู้สึกวิตกกังวล” ไม่จำเป็นต้องมีคำว่ารู้สึก เพราะวิตกกังวลก็เป็นความรู้สึกอยู่แล้ว
“เขาเลิกคิ้วของตัวเองพลางถามต่ออย่างเร่งเร้า” ไม่จำเป็นต้องบอกว่าคิ้วของตัวเอง เพราะเราจะใช้คิ้วของคนอื่นอย่างไรได้ กรณีนี้ควรเป็น “เขาเลิกคิ้วพลางถามต่ออย่างเร่งเร้า”
4. การใช้ราชาศัพท์ ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนเขียน สิ่งที่มักเขียนผิดกันบ่อย ๆ คือ ใช้คำว่าทรงนำหน้าคำราชาศัพท์ เช่น พระองค์ทรงทอดพระเนตร, พระองค์ทรงตรัสว่า ที่ถูกต้องคือ พระองค์ตรัสว่า, พระองค์ทอดพระเนตร โดยไม่ต้องมี ทรง นำหน้าอีก
คำราชาศัพท์ที่ใช้ผิดต่อ ๆ กันมา เช่น ประทับนั่ง ประทับยืน ที่ถูกต้องคือ ประทับ, ทรงยืน
5. คำอุทานหรือเสียงร้องต่าง ๆ เช่น อ๊าก โอ๊ย ว้าย ไม่ควรเบิ้ลตัวสะกดตัวท้าย เพราะจะทำให้ดูสับสน เช่น อ๊ากกกกกกก โอ๊ยยยยยยย ว้ายยยยยย ควรใส่แค่ตัวสะกดเพียงตัวเดียว ถ้าจำเป็นต้องใส่เพื่อเน้นอารมณ์ก็ไม่ควรใส่เกิน 3 ตัว เช่น อ๊ากกก !
6. การใช้เครื่องหมายตกใจ (!) ขอให้ดูความเหมาะสมของอารมณ์ตัวละครด้วย ถ้าอารมณ์ตัวละครไม่ได้อยู่ในภาวะตกใจสุดขีด ใส่ (!) แค่ 1 ตัวก็พอ เช่น ว้าย!
7. คำว่า "อ่ะ" ไม่ต้องใส่ไม้เอก เพราะผิดหลักไวยกรณ์และ "อะ" ก็เป็นเสียงเอกอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นกรณี ตัวละครยื่นของให้กันแล้วพูด ให้ใช้ "อ้ะ" ซึ่งเป็นเสียงที่เราพูดกัน เช่น ดารินส่งสมุดให้เขาแล้วพูดขึ้น "อ้ะ... เอาของคุณไป"
8. การใช้จุด (...) ควรใช้แค่ 3 จุด
9. ไม่ควรนำบทสนทนาของตัวละครสองตัวมารวมอยู่ในย่อหน้าเดียวกัน เพราะบางกรณีทำให้สับสนว่าใครเป็นคนพูด
10. หลังจบหนึ่งย่อหน้าไม่ต้องเว้นบรรทัด ถ้าเนื้อเรื่องยังต่อเนื่องกัน และไม่มีการขึ้นฉากใหม่ (กรณีที่เว้น 1 บรรทัด คือการขึ้นฉากใหม่เท่านั้น)
ตัวอย่าง
..................................
...........................................
...........................................
...........................................
..................................
...........................................
ถ้าต้องการขึ้นฉากใหม่ ให้เว้น 1 บรรทัด
ตัวอย่าง
..................................
...........................................
...........................................
..................................
...........................................
11. เวลาย่อหน้า กรุณาอย่าเคาะแป้น Spacebar ให้เคาะ Tab เพียง 1 ครั้งเท่านั้น
12. ปัญหาในการผันวรรณยุกต์
-อักษรต่ำ เสียงตรี ต้องใช้ไม้โท เช่น ว้าย, มั้ย (มักเขียนผิดเป็น ว๊าย, มั๊ย)
-จ้ะ, จ๊ะ, คะ, ค่ะ (ต้องใช้ให้ถูกต้องตามการออกเสียงจริง)
ตัวอย่างคำมักเขียนผิด
คำที่ถูกต้อง มักเขียนผิดเป็น
นิทรารมณ์ นิทรารมย์
พยักพเยิด พยักเพยิด
ผัดวันประกันพรุ่ง ผลัดวันประกันพรุ่ง
ริอ่าน ริอาจ
โดยดุษณี โดยดุษฎี
เหงื่อโซมกาย เหงื่อโทรมกาย
อ้อยส้อย อ้อยสร้อย
ดำฤษณา ดำกฤษณา
แผ่หลา แผ่หรา
สุนัขพันทาง สุนัขพันธุ์ทาง
รักสามเส้า รักสามเศร้า
สัมฤทธิผล สัมฤทธิ์ผล
คุกกี้ คุ้กกี้
หมูหย็อง หมูหยอง
กะหนุงกะหนิง กระหนุงกระหนิง
ตกรางวัล ตบรางวัล
หร็อมแหร็ม หรอมแหรม
ไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
ทโมน ทะโมน
พ่ะย่ะค่ะ พะย่ะค่ะ
ตงิด ตะหงิด
ปลก ประหลก
ดวงสมพงศ์ ดวงสมพงษ์
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.satapornbooks.com/Webboard/WebboardDetail.aspx?id=43261