****คำที่มักเขียนผิดในภาษาไทย***รู้รักภาษาไทยกันหน่อยจ้า

Boy's love > คลังกระทู้เก่า

****คำที่มักเขียนผิดในภาษาไทย***รู้รักภาษาไทยกันหน่อยจ้า

(1/20) > >>

M@nfaNG:
ช่วงที่เขียนนิยายบางครั้งมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาไทย ต้องหาในเน็ตเป็นระยะ
หรือบางครั้งอ่านนิยายก็แอบขัดใจ หรือสงสัยว่ามันใช่เหรอ เขียนถูกเหรอแบบนี้ ซึ่งก็มีทั้งที่เราเข้าใจผิดไปเองก็มาก
เลยไปเจอเวปนี้เข้า เลยอยากเอามาฝากทั้ง นักเขียน และผู้อ่านให้รู้ว่าบางคำที่เราเข้าใจว่าเขียนถูก ก็อาจจะผิดก็ได้
ใช้คำที่ผิดบ่อยๆ อีกหน่อยเราจะติดไปเอง ซึ่งเรื่องนี้เจอกับตัวเองเลยทีเดียว เข้าใจผิดไปหลายคำ ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน
ลองอ่านดูค่ะ ได้ความรู้ดี :really2:
**********************
ที่มาจากเวป http://www.sun-tree.net/forum/viewtopic.php?t=78 ขอบคุณด้วยค่ะ :pig4:

กฎ - รวมไปถึงคำอื่น ๆ เช่น กฎเกณฑ์ กฎหมู่ (ผู้คุมกฎ ก็ใช้แบบนี้ครับ) มักสะกดผิดเป็น “ฏ” คงไปนึกเทียบกับคำว่า ปรากฏ กบฏ
*ข้อสังเกต : ถ้าคำพยางค์เดียว ใช้ ฎ ชฎา แต่ถ้าคำสองพยางค์ ลงด้วย ฏ ปฏัก

กะทันหัน - (ไม่ใช้ กระทันหัน นะครับ ส่วน กะทัดรัด ก็เขียนแบบเดียวกัน)

กะพริบ - เช่น กะพริบตา มักเขียนผิดเป็น “กระพริบ” กันมากด้วย

กังวาน (เสียง) - มักเขียนผิดเป็น “กังวาล”

ช็อก - สภาพที่ร่างกายเสียเลือดมาก , สะเทือนใจรุนแรง , ถูกกระแสไฟฟ้า เป็นคำใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า shock

เช็ก - ตรวจสิ่งต่าง ๆ เป็นคำใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า check (ส่วน “เช็ค” หมายความถึงพวกเช็คที่เป็นสมุดครับ อย่างเช่นเขียนเช็คจ่ายสด มาจากคำอังกฤษว่า cheque)

โชก - ในคำว่า เหงื่อโชก ใช้คำว่า เหงื่อโซก หรือเหงื่อโซม ก็ได้ (เอามาใช้บ้างก็ดีนะครับ ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันเพราะได้ยินคำว่า เหงื่อซก ด้วย)

ตงิด - เช่น หิวตงิด ๆ ออกเสียงว่า “ตะหงิด” จึงมักเขียนผิดไปตามเสียงอ่าน

ตึก ๆ , ตึ้ก ๆ , ตึ้กตั้ก - เสียงหัวใจเต้นเวลาเหนื่อยหรือตกใจ

ทะนง หรือ ทระนง - ถือตัว , หยิ่ง เช่น ทะนงตน ทะนงศักดิ์

เท่ - มักเขียนผิดเป็น “เท่ห์” (อย่างหลังนี่จะเขียนเป็น “สนเท่ห์” ที่แปลว่า สงสัย ครับ)

นั่นปะไร - เป็นไปอย่างที่พูด มักเขียนผิดเป็น “นั่นประไร” (ผมว่า ช่างปะไร , ช่างมันปะไร ก็น่าจะใช้แบบเดียวกัน)

นัยน์ตา - (เจอบางคนใช้ นัยตา , นัยย์ตา หรือแม้แต่ นัยต์ตา ก็มี)

ปรานี - เอ็นดูด้วยความสงสาร มักเขียนผิดเป็น “ปราณี” ซึ่งจะผิดความหมายไปเลย เพราะ “ปราณี” หมายถึง ผู้มีชีวิต

ปาฏิหาริย์ - (บางคนใช้ ปาฏิหาร แบบหารเลขมาเลย)

ผล็อย - เช่น หลับผล็อย (หลับโดยเร็ว) ใช้ว่า ผ็อย หรือ ผ็อย ๆ ก็ได้

แผล็บ , แผล็บ ๆ - เช่น แลบลิ้นแผล็บ ๆ (เผลอแผล็บเดียว ก็ใช้ได้ครับ) จะใช้ว่าแพล็บ หรือ แพล็บ ๆ ก็ได้

พรรค์ - เช่น คนพรรค์นั้น (ต้องมี ค์ ด้วยนะครับ)

มนตร์ - เช่น ร่ายมนตร์ เวทมนตร์ แต่คำว่า “มนต์” จะใช้เกี่ยวกับพิธีการทางศาสนา เช่น สวดมนต์

มุก - ทำให้ขบขัน เป็นคำเก็บใหม่ มักเขียนผิดเป็น “มุข”

เลือนราง - ไม่ชัดเจน , พอระลึกได้บ้าง

โลกันตร์ - ชื่อขุมนรกที่มีการลงโทษหนักที่สุด ไม่ผุดไม่เกิด มักเขียนผิดเป็น “โลกันต์”

สุ้มเสียง - โบราณเขียนเป็น “ซุ่มเสียง” (จะใช้อย่างหลังนี้ก็ได้ครับ แต่ไม่นิยมกันแล้ว)

หน็อยแน่ - คำเปล่งไม่พอใจหรือผิดหวัง มักเขียนผิดเป็น “หนอยแน่”

หลับใหล - เช่น ในบทโคลงลิลิตพระลอว่า “สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่”

เหงื่อกาฬ - เหงื่อของคนใกล้จะตาย โดยปริยายหมายถึง เหงื่อแตกด้วยความตกใจ

อาถรรพ์ - อำนาจลึกลับที่เชื่อว่าบันดาลให้มีความเป็นไป เช่น ต้องอาถรรพ์ มีอาถรรพ์ ใช้ว่า อาถรรพณ์ หรือ อาถรรพณะ ก็ได้ แต่นิยมใช้คำแรกมากกว่า เพราะเขียนและอ่านชัดเจนดี

บรรณานุกรม :
ช่วย พูลเพิ่ม. (2547). เขียนให้ถูก ใช้ให้เป็น. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้ากรุ๊ป

ต่อด้วยการเว้นวรรคค่ะ...

- เว้นหน้าหลังเครื่องหมาย : ๆ ฯลฯ
จู่ ๆ ลมก็ไหววูบเข้ามา
เฟริน คิล คาโล โร ฯลฯ ได้มาอยู่ป้อมเดียวกัน

- เว้นหลังเครื่องหมาย : ? ! ฯ
นายอยากตายมากนักใช่ไหม ?
เฟี้ยว ! ฉึก !
มีดสั้นปักเข้าผนังห้อง ฯ

- เว้นแยกประเภทคำ : คำบรรยายกับคำพูด
เฟรินพูดยั่วน้ำแข็งยักษ์เบื้องหน้า “แล้วนายจะทำไม”

ตบท้ายด้วยเรื่องคำลงท้ายของผู้หญิงที่มักเขียนกันผิดอยู่มากทีเดียว เช่น ค่ะ คะ นะคะ จะยกตัวอย่างให้คร่าว ๆ ละกันนะ

ค่ะ – สวัสดีค่ะ , ขอบคุณค่ะ , ลาก่อนค่ะ , ไม่เป็นไรค่ะ
คะ – เหรอคะ , ใช่ไหมคะ
นะคะ – ขอบคุณนะคะ , ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ
จ้ะ – สวัสดีจ้ะ , ได้จ้ะ , ขอบใจจ้ะ
จ๊ะ – มีอะไรเหรอจ๊ะ , ไม่สบายหรือเปล่าจ๊ะ
นะจ๊ะ – ฝันดีนะจ๊ะ , เดี๋ยวเจอกันนะจ๊ะ
จ้า – สวัสดีจ้า , บายจ้า
จ๋า – พี่จ๋า , หนูจ๋า

ต่ออีกหน่อยค่ะ
กรรโชก – (ขู่เอาด้วยกิริยาหรือวาจาให้กลัว) ในคำว่า “ขู่กรรโชก” จะใช้ว่า “ขู่กระโชก” ก็ได้ เทียบกับ กระโชก (กระแทกเสียง) เช่น พูดกระโชก ลมกรรโชกแรง
* ในกรณีที่กล่าวมานี้จะใช้เป็นกรรโชก เช่น พูดกรรโชก ลมกรรโชก ไม่ได้ครับ

กราบ – (ไม้เสริมแคบเรือ) เทียบกับ กาบ (เปลือกหุ้มผลหรือลำต้น) เช่น กาบมะพร้าว กาบกล้วย

กร่ำ – (เมาเรื่อยไป) เช่น เมากร่ำ ถ้าเป็น เมากรึ่ม (เมาตลอดวัน) ความหมายก็พอ ๆ กันครับ เทียบกับ ก่ำ (เข้ม , จัด , สุกใส) เช่น หน้าแดงก่ำ
* คำว่า “กล่ำ” ไม่มีใช้ครับ มีแต่ที่เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งว่า “มะกล่ำ”

กะโหลก – เช่น หุบเขาหัวกะโหลก (ไม่ใช้ผิดเป็น “กระโหลก” .. นึกเอาง่าย ๆ ก็ “กะโหลกกะลา” ละกันครับ)

กำราบ – (ทำให้เข็ดหลาบ) แต่ด้วยความที่อ่านว่า “กำหราบ” จึงทำให้ใช้ผิดตามไปด้วย

กี้ – เช่น เมื่อกี้ เมื่อแต่กี้ เมื่อตะกี้ แต่มีคำว่า กี๊ เก็บเพิ่มมาใหม่อีกคำด้วย เช่น เมื่อกี๊

เกม – ใช้เกี่ยวกับการแข่งขัน เช่น เกมคอมพิวเตอร์ เกมกีฬา ส่วน “เกมส์” ใช้ที่เป็นชื่อเฉพาะ เช่น เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์

แก๊ง – (กลุ่มคนเป็นก๊กเป็นเหล่ากระทำการไม่ดี) มาจากภาษาอังกฤษว่า gang เช่น แก๊งโจร แก๊งอันธพาล มีใช้ผิดเป็น แก๊งค์

คณนา – (นับ) เช่น สุดที่จะคณนา หรือ “คณานับ” ก็ได้ เช่น สุดคณานับ

คลุมเครือ – จะใช้เป็น “ครุมเครือ” ก็ได้ครับ แต่นิยมน้อยกว่า

เคร่งเครียด – (สมองไม่ได้พัก) เทียบกับ ตึงเครียด (ใกล้จะถึงขั้นแตกหัก) เช่น สถานการณ์ตึงเครียด

เคียดแค้น – (โกรธแค้น) เทียบกับ ขึ้งเคียด (โกรธอย่างชิงชัง)

จะจะ – (ให้เห็นชัดเจน , กระจ่าง) เช่น เห็นกันจะจะ ซึ่งไม่ใช้ไม้ยมกเป็น “จะ ๆ” ครับ เช่นเดียวกับ ชะชะ (คำเปล่งเวลาโกรธ) ซึ่งจะใช้ว่า “ชะช้า” หรือ “ชัดช้า” ก็ได้ และคำว่า รำรำ , ร่ำร่ำ (คิดหรือตั้งใจซ้ำ ๆ อยู่) เช่น ร่ำร่ำจะไปเที่ยว

ชะมัด – (มาก) เช่น เก่งชะมัด ใช้ “ชะมัดยาด” ก็ได้

ทโมน – เช่น ลิงทโมนป้อมอัศวิน

ปฐพี – (แผ่นดิน) ใช้ว่า “ปถพี” ก็ได้ (แต่คำหลังนี้ผมไม่เคยเห็นใช้กันนะ)

พลิ้ว – (บิด , เบี้ยว , สะบัดไปตามลม) เช่น บิดพลิ้ว ลมพลิ้วไหว ซึ่งคำว่า “พริ้ว” ไม่มีใช้ นอกจากเป็นชื่อเฉพาะที่เรียกมานานแล้ว เช่น น้ำตกพริ้ว จ.จันทบุรี ครับ

พลุ่ง – (ไอน้ำหรือควันหรือสิ่งที่คล้าย ๆ กัน ดันพุ่งตัวออกมาโดยแรง) เช่น ไอน้ำพลุ่งออกมา อารมณ์เดือดพลุ่ง (อารมณ์พลุ่งพล่าน ก็ใช้แบบนี้ครับ) เทียบกับ พุ่ง เช่น พุ่งตัว น้ำพุ่ง พุ่งความสนใจ (มุ่งตรงไป) .. สังเกตกันนิดนึงนะครับ

พิศวาส – (รักใคร่ , สิเนหา) เช่น ไม่น่าพิศวาส มักใช้ผิดเป็น “พิสวาศ”

พิสมัย – (ความรัก , ความชื่นชม) มักใช้ผิดเป็น “พิศมัย” แต่ชื่อเฉพาะต้องคงไว้ (เช่น ชื่อคนครับ)

ไย – ในคำที่ใช้ว่า จะช้าอยู่ไย ไยจึงไม่มา อย่าไปไยดี มักเขียนผิดเป็น “ใย”

ลออ – (งาม) เช่น นวลลออ , (ถี่ถ้วน , รอบคอบ) เช่น ละเอียดลออ มักใช้ผิดเป็น “ละออ”

ละลวย – (งงงวย , ทำให้หลง) เช่น คาถามหาละลวย เทียบกับ ระรวย (แผ่ว ๆ เบา ๆ) เช่น หายใจระรวย หอมระรวย

ละเหี่ย – (อ่อนใจ , อิดโรย) เช่น อ่อนเพลียละเหี่ยใจ มักใช้ผิดเป็น “ระเหี่ย”

เวท – เข้าคู่กับคำว่า มนตร์ เป็น เวทมนตร์

สรร – เช่น เลือกสรร สรรสร้าง (แกล้งเลือก) สรรหา (เลือกมา)

สรรค์ – (สร้าง) มักเข้าคู่กับ “สร้าง” เป็น สร้างสรรค์ , สรรค์สร้าง เทียบกับ รังสรรค์ , รังสฤษฏ์ ที่หมายถึง สร้าง เหมือนกันครับ

สรรพางค์ – (ทั่วตัว) เข้าคู่กับ “กาย” เป็น สรรพางค์กาย

หลุบ – (ลู่ลงมา) เช่น ผมหลุบหน้า หลุบตา ไม่มีใช้ว่า หรุบ เทียบกับ หรุบ ๆ (สิ่งที่ร่วงพรูลงมา) เช่น ร่วงหรุบ ๆ

เหลอหลา – (มีหน้าตาเซ่อ) เช่น ทำหน้าเหลอหลา

แหยม – (ปอยผมที่เอาไว้เป็นกระจุกหรือหนวดไว้สองข้างริมฝีปาก) เช่น หนวดแหยม (เห็นคำนี้แล้วนึกถึงท่านอาเธอร์เลยนะครับ ^^)

แหย็ม – เป็นภาษาปากหมายถึง เข้าไปยุ่ง เช่น อย่าไปแหย็ม

อเปหิ , อัปเปหิ – ภาษาที่ใช้ทั่วไปหมายถึง ขับไล่

อัฒจันทร์ – (ที่นั่งเป็นขั้น ๆ สำหรับดูการแสดงหรือกีฬา เป็นรูปครึ่งวงกลม หรือชั้นที่ตั้งของขายเป็นขั้น ๆ)

อิริยาบถ – มักใช้ผิดเป็น “อิริยาบท” 

- มนตร์ คำศักดิ์สิทธิ์ , คาถา , คำสวด (คำบาลีเขียน มฺนต , สันสกฤตเขียน มนฺตร) ว่าง่าย ๆ ก็คือถ้าเขียนตามคำบาลีก็เป็น มนต์ และถ้าเขียนตามคำสันสกฤตเป็น มนตร์

- มนตรา เป็นคำที่ใช้กับพวกคำกลอนครับ มีความหมายเท่ากับมนตร์

* เพราะฉะนั้นความหมายเดียวกัน ใช้แทนกันได้คร้าบ

"เลือนลาง" ที่เขียนแบบนี้แทน (หมายถึง ไม่แจ่มใส , ไม่ค่อยจะมีความหวัง , มัว ไม่ชัด จาง) คาดว่า ลางเลือน น่าจะเป็นการกลับคำซึ่งเป็นลูกเล่นของผู้เขียนมากกว่า

อนุญาต ที่ถูกต้องไม่มีสระอิค่ะ เครือญาติ เท่านั้นที่จะมีสระอิ (ญาติมิตรก็อยู่ในลักษณะของเครือญาติค่ะ - -//)

เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. (2544). พจนานุกรมไทย ฉบับใหม่. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น (1977).


ใครมีความรู้เรื่องคำไหนอีกก็มาบอกกันนะคะ จะพยายามเตือนตัวเองให้ระมัดระวังในการใช้ภาษาไทย เขียนคำไหนผิดก็บอกกันมานะ :call:

mecon:
ขอบคุณมากๆคะ

ได้ความรู้มากมายคะ o13

Poes:
ขอบคุณจ้าฟาง ปกติตอนนี้ชักนิสัยเสีย เขียนติดภาษาเอ็ม  :z3:
แก้งัยดี ภาษาไทยจะเริ่มลงเหว

MurasakiLove:
โอ้ววววววว ดีจังเลยเป็นประโยช์มากเลยค่ะ
มีหลายคำเหมือนกันที่ไม่แน่ใจว่าเขียนยังไงดี ด้วยความที่ไม่ค่อยได้เขียนภาษาไทย
(จริงๆ ภาษาอื่นก็ไม่ได้เขียนด้วยแหละ +555 ชอบอ่านมากกว่า)

ขอบคุณ จขกท.จ้า
:oni1:


WEERACHOT:
 :a5: ขอบคุณครับ เราก็เขียนผิดบ่อยๆจนเริ่มติดนิสัยแล้ว

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ไปที่เวอร์ชันเต็ม